วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 8 การประเมินและอนุมัติโครงการ

การประเมินและอนุมัติโครงการ
            เป็นการพิจารณาถึงความคุ้มค่าและความสมบูรณ์ของโครงการ ซึ่งผู้บริหารจะต้องพิจารณารายละเอียดของโครงการที่เสนอมาว่า มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
            การประเมินโครงการควรดำเนินการดังนี้
1.      วิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อโครงการทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อม เพื่อที่จะได้กำหนดทิศทางและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการได้อย่างถูกต้อง
2.      พิจารณาความสอดคล้องและความสมบูรณ์ของโครงการ ซึ่งดูจากส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้
2.1  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับนโยบายขององค์การหรือไม่
2.2  วิธีการดำเนินงานของโครงการ ขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ สอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบหรือไม่ มีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
2.3  ค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งในแต่ละกิจกรรมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งโครงการเป็นจำนวนเท่าไหร่ แยกเป็นประเภทอะไรบ้าง แหล่งเงินทุนมาจากที่ใด
3.      พิจารณาความเหมาะสมและประโยชน์ของโครงการ ซึ่งดูได้จากกรณีต่าง ๆ ดังนี้
3.1  เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีโครงการ เพื่อดูว่าโครงการนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงใดและมีผลกระทบกับเหตุการณ์ใดบ้าง
3.2  จังหวะและระยะเวลาที่จะดำเนินการ เพื่อดูว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการนำผลผลิตของโครงการไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เพียงใด
3.3  ความสมประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดูว่าโครงการนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด
3.4  ความสอดคล้องระหว่างรายจ่ายและผลตอบแทน เพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงานกับผลประโยชน์ที่ตามมา มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันหรือไม่
4.      พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
4.1  ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ เพื่อดูว่าผลผลิตหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการลงทุนแล้วจะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
4.2  ความเป็นไปได้ทางการเงิน เพื่อดูว่าปริมาณค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการดำเนินโครงการของแต่ละกิจกรรมมาจากแหล่งใดบ้าง มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะได้มา และการได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายนั้นจะสอดคล้องกับความต้องการนำไปใช้หรือไม่
4.3  ความเป็นไปได้ในทางเทคนิค เพื่อดูว่าเทคนิคและวิธีการที่จะนำมาใช้ในโครงการมีความเหมาะสมกับลักษณะของโครงการหรือไม่ สามารถทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
4.4  ความพร้อมและความสามารถของหน่วยงาน เพื่อดูว่าจำนวนบุคลากร งบประมาณ ทรัพยากร ขีดความสามารถของหน่วยงานสามารถใช้ดำเนินโครงการได้หรือไม่ และหน่วยงานนั้นมีแผนสำหรับการได้มาซึ่งทรัพยากรสำหรับการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหรือไม่
4.5  ข้อจำกัดอื่น ๆ เป็นการดูว่าในโครงการนั้นมีข้อจำกัดอื่นใดที่จะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิบัติการหรือไม่

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 7 การวิเคราะห์โครงการ (Project Appraisal

        การวิเคราะห์โครงการ หรือ Project appraisal เป็นขั้นตอนที่จะศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เช่น ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับจากโครงการ ตลอดจนปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการดำเนินการว่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่เพียงใด ทั้งนี้เพื่อคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดเข้าไว้ในแผน
            โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์โครงการจะศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
1.      การวิเคราะห์ทางด้านอุปสงค์ เป็นการวิเคราะห์และคาดคะเนความต้องการให้ผลผลิตของโครงการที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นจากโครงการนั้น โดยทั่วไปจะวิเคราะห์กรณีต่าง ๆ ดังนี้
1.1  วิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเพื่อดูความต้องการในขณะนั้น
1.2  วิเคราะห์ความต้องการในอนาคตเพื่อดูแนวโน้มความต้องการที่จะเกิดขึ้น
1.3  วิเคราะห์กิจกรรมที่มีอยู่จะสนองความต้องการได้มากน้อยเพียงใด
2.      การวิเคราะห์ทางเทคนิค เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในโครงการนั้น โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับกรณีต่าง ๆ ดังนี้
2.1  วิเคราะห์หาแนวความคิดใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้กับโครงการ
2.2  วิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคของโครงการ
2.3  วิเคราะห์หาความเหมาะสมหรือความเป็นไปได้ของโครงการ
3.      การวิเคราะห์ทางด้านการเมือง เป็นการวิเคราะห์ถึงบทบาททางการเมืองที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการ
4.      การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ เป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจว่าโครงการนั้นให้ผลตอบแทนได้มากหรือน้อยเพียงใดเพื่อจะได้วางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณากรณีต่าง ๆ ดังนี้
4.1  ปริมาณการลงทุนและผลตอบแทน
4.2  ระยะเวลาคืนทุน
4.3  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
5.      การวิเคราะห์ทางด้านการเงิน เป็นการวิเคราะห์ถึงการลงทุนและผลตอบแทนของโครงการ ซึ่งรวมถึงการวางแผนทางด้านการเงินที่เหมาะสมกับโครงการนั้น ซึ่งแนวทางการวิเคราะห์ทางด้านการเงินจะประกอบด้วยกรณีต่าง ๆ ดังนี้
5.1  การคาดคะเนการเงินของโครงการ
5.2  การวิเคราะห์ความสามารถให้เกิดผลผลิตสูงสุด
5.3  การประเมินผลตอบแทนทางการเงิน
5.4  แหล่งที่มาของเงินทุน
5.5  ปัญหาด้านการเงินอื่น ๆ
6.      การวิเคราะห์ด้านการบริหาร เป็นการวิเคราะห์เพื่อพิจารณาว่าโครงการนั้นได้มีระบบการบริหารที่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของโครงการหรือไม่เพียงใด
7.      การวิเคราะห์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการวิเคราะห์ถึงสภาพต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มอิทธิพลในด้านต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ เหล่านั้นจะมีผลต่อการดำเนินโครงการอย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 6 วงจรโครงการของ Rondinelli

        Prof. Dr. Denis A. Rondinelli นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงด้านการบริหารได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวงจรโครงการเอาไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.      การระบุโครงการ (Project identification) คือ การชี้ปัญหา หลักการ เหตุผล ชื่อ วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องกำหนดขึ้น
2.      การศึกษาและจัดเตรียมโครงการ (Project preparation) คือ การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในโครงการ
3.      การควบคุมตรวจสอบโครงการ (Project appraisal) คือ การที่คณะผู้จัดทำโครงการและผู้เกี่ยวข้องทำการวิเคราะห์ พิจารณาทุกลักษณะของโครงการอย่างละเอียดก่อนนำไปปฏิบัติ โดยจุดที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษคือ วิธีการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาวะทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนทางการเงิน
4.      การตัดสินใจเลือกโครงการ (Project decision) คือ การตัดสินใจนำโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วไปนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติดำเนินการ
5.      การนำโครงการไปปฏิบัติ (Project implementation) คือ การจำแนกกิจกรรมโครงการออกเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน กำหนดตัวบุคคลและวิธีการทำงาน การนำโครงการไปปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ และมีการควบคุมตรวจสอบเพื่อป้องกันตความผิดพลาด
6.      การประเมินผลโครงการ (Project evaluation) คือ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดมากน้อยเพียงใดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของงาน อย่างไรก็ตาม การประเมินผลอาจทำได้ในหลาย ๆ ขั้นตอน เช่น ประเมินผลก่อนเริ่มดำเนินงาน ในระหว่างการดำเนินงาน และภายหลังจากโครงการสิ้นสุดลงก็ได้