วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 2 ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ

ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ
ในอดีตนั้น ผู้บริหารมอง “คน” ว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต (Man Machine Material Money) เหมือนกับเครื่องจักร จึงได้มีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้คนทำงานได้มากขึ้นโดยการให้สิ่งจูงใจหรือผลตอบแทนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งก็พบว่าไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ต่อมาจึงได้มีผู้สนใจศึกษาในเรื่องมนุษยสัมพันธ์โดยมีแนวคิดที่ว่า “มนุษย์มีความแตกต่างกัน” จึงเน้นไปในเรื่องการเอาอกเอาใจคนงาน ซึ่งต่อมาก็พบว่าการให้ความสำคัญกับมนุษยสัมพันธ์ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีอีกเช่นกัน จึงมีการใช้วิธีการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ซึ่งก็เป็นที่มาของการศึกษาพฤติกรรมองค์การนั่นเอง การศึกษาดังกล่าว มีอิทธิพลต่อแนวคิดการบริหารในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะการบริหารคือ”กระบวนการทำงานให้สำเร็จโดยใช้บุคคลอื่น” ดังนั้นพฤติกรรมของบุคคลในองค์การจึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์การ การบริหารทรัพยากรบุคคล ฯ อย่างที่นักศึกษาบริหารธุรกิจต้องเรียนกันในเรื่องหลักการบริหารไม่ว่าจะเป็น “POSDCORB” หรืออื่น ๆ การควบคุมดูแล “คน” ซึ่งมีความต้องการ มีความรู้สึก มีอารมณ์ แล้วนั้น สำหรับผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อย่างผมบอกได้เลยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก แต่การบริหารจัดการให้ “คน” สามารถทำงานให้กับองค์การได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ สามารถแข่งขันและทำให้องค์การอยู่รอด เติบโตไปได้นั้น ผู้บริหารจำเป็นจะต้องศึกษาในเรื่องพฤติกรรมองค์การ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในองค์การได้
จากที่ได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าว จึงขอสรุปความสำคัญที่มีต่อผู้บริหารในการศึกษาพฤติกรรมองค์การ ดังนี้

1. ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้  
การศึกษาพฤติกรรมองค์การจะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจพฤติกรรมและความรู้สึกของตนเอง เช่น ความต้องการ แรงจูงใจ ทำให้ทราบจุดอ่อน จุดแข็งของพฤติกรรมของตนเอง ทำให้สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์การบริหารงานอย่างมาก

2.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาได้
          ผู้บริหารจำเป็นต้องรับผิดชอบในการวางแผน การจัดองค์การ และการควบคุมให้มีการทำงานที่นำไปสู่ผลสำเร็จ การศึกษาพฤติกรรมองค์การจะทำให้ผู้บริหารเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชา เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงทำให้ผู้บริหารเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนำมาสู่การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมในองค์การได้อย่างเหมาะสม เช่น ใช้การจูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างทุ่มเทมากขึ้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในองค์การ การสนับสนุนให้พนักงานทำงานได้บรรลุตามเป้าหมาย เป็นต้น

3.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน
ผู้บริหารจำเป็นต้องทำงานร่วมกับบุคคลต่าง ๆ ในองค์การ การเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล กระบวนการกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม วัฒนธรรมภายในองค์การ อำนาจและการเมืองภายในองค์การ จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

4.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถทำนายพฤติกรรมของผู้บริหาร ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายขององค์การ
จากความจริงที่ว่าผู้บริหารระดับสูงจะมีอิทธิพลต่อผู้บริหารในระดับรอง ๆ ลงมา การศึกษาพฤติกรรมองค์การจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารมีความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริหารที่อยู่เหนือขึ้นไปและบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายขององค์การ และสามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อนโยบายขององค์การ ซึ่งนำมาสู่การวางแผน การจัดองค์การ  และการควบคุมให้องค์การมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายขององค์การได้


ตอนต่อไปมาดูกันว่า พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 3 พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร

พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร
วิชาพฤติกรรมองค์การเป็นวิชาที่มีลักษณะผสมผสาน และประยุกต์ความรู้ในศาสตร์หลาย ๆ สาขาเข้าด้วยกัน จึงเป็นวิชาที่มีคุณค่าและมีความสำคัญเพราะสามารถนำทฤษฎีและแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับมนุษย์มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์การและมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถพิจารณาปัญหาจากแง่มุมที่แตกต่างกัน มีมุมมองที่กว้างขวางยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดความเข้าใจเข้าใจใน “คน” มากยิ่งขึ้น  สามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหา และวางแบบแผนพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ได้ถูกต้องมากขึ้น
ในการศึกษาวิชานี้ให้มีความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งนั้น ควรจะต้องศึกษาวิชาอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบ ซึ่งมักจะเป็นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในบางแขนง ซึ่งวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมองค์การจะได้แก่
1. วิชาการจัดการ (Management) เป็นการศึกษาหลักและวิธีปฏิบัติในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ ซึ่งในการทำงานจะต้องเกี่ยวข้องความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของบุคคลในองค์การที่เราทำงานอยู่ ทำให้การจัดการและพฤติกรรมองค์การไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
2. วิชาจิตวิทยา (Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจและการแสดงออกของบุคคล โดยนักจิตวิทยาจะเฝ้าสังเกตศึกษาพฤติกรรมของบุคคลและกำหนดขึ้นเป็นแนวทางการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ การรับรู้ การจูงใจ บุคลิกภาพ และจิตวิทยาองค์การ (Organization Psychology)
3. วิชาสังคมวิทยา (Sociology) วิชานี้จะมุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมนุษย์เมื่อยู่ในระบบสังคมว่า แต่ละบุคคลมีบทบาทของตนอย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาในด้านการตัดสินใจ พฤติกรรมกลุ่ม ทฤษฎีองค์การ วัฒนธรรมองค์การ
4. วิชามานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นวิชาที่ศึกษาถึงสังคมในแง่เกี่ยวกับมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจเรื่อง ค่านิยม เจตนคติ ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมองค์การ
5. วิชารัฐศาสตร์ (Political Science) จะศึกษาถึงพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมือง เป็นการศึกษาถึงอำนาจ การเมือง การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับการปกครอง การจัดการความขัดแย้ง
6. วิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) เป็นการศึกษาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น
การศึกษาพฤติกรรมองค์การนั้นสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น
          1. กรณีศึกษา (Case Study) เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่เป็นจริง เช่น บุคคล กลุ่ม หรือองค์การที่มีอยู่จริง เพื่อใช้เป็นตัวอย่าง ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษาข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
          2. การสำรวจ (Survey Research) เป็นการศึกษาโดยใช้กลุ่มตัวอย่าง (Sample) ตอบคำถามในแบบสอบถาม (Questionnaire) แล้วทำการวิเคราะห์และสรุปผล โดยคาดว่าคำตอบของกลุ่มตัวอย่างจะสะท้อนภาพรวมของกลุ่มประชากร
          3. การทดลองในห้องแล็บ (Laboratory Research) เป็นการทดลองในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ เพื่อศึกษาความเป็นไปของระบบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ
          4. การออกสนาม (Field Research) เป็นการศึกษาพฤติกรรมโดยการเก็บข้อมูลจากการสังเกต เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์การ โดยจะศึกษาปัญหาในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง
          วิชาพฤติกรรมองค์การจะประยุกต์วิชาพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) กับสาขาวิชาอื่น ๆที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เพื่อกำหนด พัฒนา และประยุกต์หลักการ รวมถึงวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันในองค์การท่ามกลางความแตกต่างกันของบุคคลให้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเจ้าของกิจการเอง ผู้บริหาร ตลอดจนตัวพนักงานครับ

          ตอนต่อไปเราจะมารู้จักประเภทขององค์การและองค์ประกอบขององค์การกันครับ

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 1 พฤติกรรมองค์การคืออะไร

 
พฤติกรรมองค์การคืออะไร
ขึ้นหัวเอาไว้อย่างนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ผมจะพาไปทำความรู้จักกับ “พฤติกรรมองค์การ” กันครับ
คงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าทุกวันนี้คนเราต้องอยู่กับ “องค์การ” โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานราชการ งานบริษัท งานสำนักงาน งานโรงงานอุตสาหกรรม ฯ การที่คนหลาย ๆ คนมาอยู่ร่วมกันเพื่อที่จะทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ย่อมจะต้องแสดง “พฤติกรรม” ต่าง ๆ ออกมาทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้นในการศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมองค์การ” จริง ๆ แล้วเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในองค์การนั้น ๆ (Human Behavior in Organization) นั่นเอง เพราะองค์การประกอบไปด้วยคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน มีการพูดคุย โต้เถียง ขัดแย้งกันไปตามประสาคนหมู่มากที่มีพื้นฐานที่มาที่ไปต่างกัน นิสัยใจคอต่างกัน ความรัก ความชอบต่างกัน ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยมต่างกัน จึงมีการศึกษากันว่าทำอย่างไรมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันนี้ จะสามารถอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุด

มาดูกันว่าการศึกษา “พฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ” นั้น เราจะศึกษากันอย่างไร
ตำราส่วนใหญ่จำแนกการศึกษาถึงพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. พฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior)
2. พฤติกรรมกลุ่ม (Group Behavior)
3. พฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior)
แต่ก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงพฤติกรรมองค์การในแต่ละระดับ เรามาปูพื้นกันก่อนกับความหมายของคำว่า “องค์การ”
องค์การหมายความว่าอย่างไร
เมื่อพูดถึง “องค์การ” เรามักนึกถึงโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยคนหลาย ๆ คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกไปในแต่ละคน มีผู้บังคับบัญชา มีผู้ใต้บังคับบัญชา มีระเบียบกฎเกณฑ์ มีขั้นตอนในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้การทำกิจกรรมนั้น ๆ บรรลุเป้าหมาย
มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “องค์การ” เอาไว้ในหลายแง่มุม ซึ่งก็พบว่ามีลักษณะร่วมกันบางประการ ได้แก่
1. ระบบ หากใครที่ศึกษาความหมายของ “ระบบ” จะทราบว่า ระบบประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Inputs), กระบวนการ (Process), ผลลัพธ์ (Outputs) และข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) องค์การก็เหมือนกัน ระบบองค์การจะมีลักษณะเป็นระบบที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ต่อกัน เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
2. การรวมตัวของบุคคล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ จะมีโครงสร้างที่ชัดเจนแน่นอนหรือจะไม่มีก็ได้
3. กิจกรรม บุคคลจะรวมตัวกันก็เพื่อที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งอาจจะรวมตัวกันจริง ๆ หรือรวมตัวกันแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ก็ได้
4. วัตถุประสงค์ บุคคลจะมารวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกัน และพยายามทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
 
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า “องค์การ” หมายถึงระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันนั่นเอง
ส่วน “พฤติกรรมองค์การ” นั้นก็ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายเอาไว้ ซึ่งผมจะขอสรุปความหมายให้ท่านผู้อ่านได้ทราบพอเป็นสังเขป ดังนี้
“เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งในระดับพฤติกรรมบุคคล พฤติกรรมกลุ่ม และพฤติกรรมองค์การอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมขององค์การในภาพรวม และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนสร้างความพึงพอใจให้บุคลากรในองค์การนั้น ๆ”
ตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่า "ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ" ครับ