วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 5 แบบจำลองในการศึกษาพฤติกรรมองค์การ

แบบจำลองในการศึกษาพฤติกรรมองค์การ
          แบบจำลอง ( Model ) คือ การอธิบายถึงลักษณะบางอย่างของระบบหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง  แบบจำลองจึงเป็นการถอดแบบความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายโดยการจัดระบบของความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ ระหว่างตัวแปรตามกับตัวแปรอิสระ  สำหรับแบบจำลองที่ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมองค์การนี้ จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัจจัยด้านมานุษยวิทยาที่ทำให้เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคนในองค์การ ปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ทำให้เข้าใจกระบวนการรับรู้ การจูงใจและการเรียนรู้ของมนุษย์  ปัจจัยด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยาที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร  และปัจจัยด้านรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
 
การศึกษาพฤติกรรมองค์การจะศึกษาทั้งพฤติกรรมระดับบุคคล กลุ่ม และองค์การนั้น จะมีตัวแปรอยู่ 2 ตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ตัวแปรตามเบื้องต้นและตัวแปรอิสสระ ตัวแปรตามของแบบจำลองพฤติกรรมองค์การแต่ละระดับจะเหมือนกัน  ได้แก่  ผลผลิต การขาดงาน การออกจากงาน  และความพึงพอใจในงาน แต่ตัวแปรอิสระของพฤติกรรมองค์การในแต่ละระดับมีความแตกต่างกัน ทำให้สามารถแบ่งแบบจำลองพฤติกรรมองค์การออกเป็น 3 แบบจำลองย่อย ได้แก่ แบบจำลองพฤติกรรมองค์การระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดของตัวแปรตามและตัวแปรอิสระของพฤติกรรมองค์การในแต่ละระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ ไปตามลำดับดังนี้

1.  ตัวแปรตามเบื้องต้นของพฤติกรรมองค์การ
          ตัวแปรตามเบื้องต้นของพฤติกรรมองค์การ (Primary Dependent Variables) ได้แก่ ผลผลิต     ( Productivity ) การขาดงาน ( Absenteeism )  การออกจากงาน ( Turnover )  และความพึงพอใจ  ( Satisfaction ) ซึ่งตัวแปรเหล่านี้เป็นตัวกำหนดประสิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ขององค์การที่สำคัญ โดยแต่ละตัวแปรมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  ( อ้างอิงจาก Stephen P. Robbins, 1993 )
1.1  ผลผลิต ( Productivity )  องค์การที่มีผลผลิต หมายถึง องค์การที่มีการดำเนินงานที่บรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนปัจจัยนำเข้า ( Input ) ให้เป็นปัจจัยนำออก ( Output ) โดยมีต้นทุนต่ำที่สุด ( Lowest  Cost )  ดังนั้น คำว่า การมีผลผลิตจึงหมายรวมถึงประสิทธิผล ( Effectiveness ) และประสิทธิภาพ( Efficiency )  ขององค์การ
1.2  การขาดงาน (Absenteeism )  องค์การจะสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและบรรลุตามจุดมุ่งหมาย จำเป็นต้องอาศัยการมาทำงานอย่างสม่ำเสมอของบุคลากรในองค์การ ซึ่งถ้าองค์การมีบุคลากรขาดงานหรือลางานบ่อย ย่อมส่งผลให้งานสะดุด ล่าช้า ส่งผลให้ทั้งคุณภาพและปริมาณของผลผลิตขององค์การลดลง
1.3 การออกจากงาน ( Turnover ) หมายความถึง การออกจากองค์การทั้งที่สมัครใจและไม่สมัครใจ ซึ่งการออกจากงานของบุคลากรจะทำให้เกิดการสะดุดของความรู้ และประสบการณ์ของคนทำงานที่สูญเสียไปพร้อมกับบุคลากรเก่าที่ออกจากงานไป ส่งผลให้ผลผลิตขององค์การลดต่ำลงด้วย
1.4 ความพึงพอใจ ( Satisfaction ) ความพึงพอใจเป็นทัศนคติหรือความรู้สึกของบุคคลที่มีต่องานของตน หรืออาจหมายรวมถึง ความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนที่บุคคลนั้นได้รับ กับผลตอบแทนที่เชื่อว่าเขาควรจะได้รับก็เป็นได้
2.  ตัวแปรอิสระในแบบจำลองพฤติกรรมองค์การแต่ละระดับ
สำหรับตัวแปรอิสระที่สำคัญที่ส่งผลต่อตัวแปรตามของพฤติกรรมองค์การที่กล่าวไปแล้ว คือ ผลผลิต การขาดงาน การออกจากงาน และความพึงพอใจ จะมีทั้งตัวแปรอิสระของพฤติกรรมในระดับบุคคล กลุ่ม และองค์การ  ดังนี้  ( อ้างอิงจาก Stephen P. Robbins, 1993 )
2.1 แบบจำลองพฤติกรรมองค์การระดับบุคคล  
          ตัวแปรอิสระหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมองค์การในระดับบุคคล ได้แก่ คุณลักษณะทางชีวภาพ ซึ่งได้แก่ อายุ เพศ บุคลิกภาพ ค่านิยม ทัศนคติ และความสามารถของแต่ละบุคคล รวมทั้งการรับรู้ แรงจูงใจ และการเรียนรู้ของบุคคลดังกล่าว ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ
2.2 แบบจำลองพฤติกรรมองค์การระดับกลุ่ม 
พฤติกรรมองค์การระดับกลุ่มไม่ใช่เป็นเพียงการนำพฤติกรรมองค์การในระดับบุคคลมารวมกัน แต่พฤติกรรมองค์การระดับกลุ่มมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เนื่องจากบุคคลเมื่ออยู่ในกลุ่มจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากพฤติกรรมเมื่ออยู่คนเดียว พฤติกรรมระดับกลุ่มจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกลุ่ม การสื่อสาร ภาวะผู้นำ วิธีการตัดสินใจของกลุ่ม ความขัดแย้ง และการใช้อำนาจในกลุ่ม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในองค์การ
2.3 แบบจำลองพฤติกรรมองค์การระดับองค์การ   
พฤติกรรมระดับองค์การไม่ใช่เป็นเพียงการนำพฤติกรรมองค์การในระดับบุคคลและกลุ่มมารวมกันเท่านั้น แต่พฤติกรรมระดับองค์การยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากบุคคลเมื่ออยู่ในองค์การ นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยของปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากการออกแบบโครงสร้างองค์การ นโยบายและการปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมองค์การ และระดับของความเครียดที่เกิดจากการทำงานในองค์การนั้น ๆ อีกด้วย

ตอนนี้เรารู้จักแบบจำลองในการศึกษาพฤติกรรมองค์การกันแล้ว ตอนต่อไปเราจะเข้าสู่การศึกษาพฤติกรรมองค์การระดับปัจเจกบุคคลกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น