วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 6/1 พฤติกรรมส่วนบุคคล

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับตัวแปรที่เราต้องศึกษากันก่อนครับ
สำหรับตัวแปรอิสระหรือว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมองค์การในระดับบุคคลจะได้แก่ คุณลักษณะทางชีวภาพ บุคลิกภาพ ค่านิยมและทัศนคติ ความสามารถของปัจเจกบุคคล รวมทั้งการรับรู้ แรงจูงใจ การเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ และสะท้อนออกมาใน 4 ด้าน คือ ผลผลิต การขาดงาน การลาออกจากงาน และความพึงพอใจในงาน

ซึ่งในการศึกษาถึงพฤติกรรมองค์การระดับบุคคล จะเน้นการพิจารณาถึงตัวแปรสำคัญในระดับบุคคล จำนวน 3 ตัวแปร คือ
1.  คุณลักษณะทางชีวภาพ (Biographical characteristics) การศึกษาในเรื่องนี้มีตัวแปรอยู่ด้วยกันหลายตัว ซึ่งเราจะต้องเริ่มต้นศึกษาจากข้อมูลที่องค์การมีอยู่แล้วในแฟ้มประวัติพนักงาน ซึ่งได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพการสมรส อายุการทำงานในองค์การ โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
-  อายุ
• ด้านผลผลิต โดยส่วนใหญ่มักเชื่อกันว่าผลผลิตในการทำงานจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงทักษะการทำงาน เช่น ความเร็ว ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรง การประสานงาน แต่มีผลศึกษาบางกรณีที่บอกว่าพนักงานสูงอายุมีผลการทำงานที่ดีกว่าพนักงานวัยหนุ่มสาว ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการที่อายุมากขึ้นแล้วทำให้ผลผลิตต่ำลงนั้น ใช้ได้เป็นบางกรณีเท่านั้น เพราะในบางงานผู้ที่มีอายุมากกลับสามารถทำงานได้ดีกว่าผู้ที่มีอายุน้อย เช่นงานที่ต้องใช้ทักษะ ฝีมือ
• ด้านการขาดงาน มีการสันนิษฐานกันว่าคนที่มีอายุการทำงานมากจะมีอัตราการขาดงานน้อย แต่จากการศึกษาพบว่าไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับการขาดงานนั้น จะขึ้นอยู่กับว่าการขาดงานนั้นหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ เช่นพนักงานอายุมากอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยซึ่งทำให้ต้องหยุดงานหรือขาดงาน
• ด้านการลาออกจากงาน จากการศึกษาพบว่าพนักงานที่มีอายุมาขึ้นความเป็นไปได้ที่จะลาออกจากงานจะลดต่ำลง เพราะคนที่มีอายุมากขึ้น ทางเลือกหรือโอกาสในการหางานทำใหม่อาจจะมีน้อยลง และการอยู่ทำงานต่อในองค์การเดิมยังทำให้สิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น
• ด้านความพึงพอใจในงาน จากการศึกษาโดยส่วนใหญ่พบว่าอายุกับความพึงพอใจในงานมีความสัมพันธ์กัน แต่มีบางกรณีศึกษาพบว่า อายุกับความพึงพอใจในงานจะสัมพันธ์กันเฉพาะกลุ่มอาชีพที่เน้นความชำนาญเฉพาะด้าน (Professional employee) ส่วนพนักงานทั่วไปที่มีอายุมากขึ้น ความพึงพอใจในงานจะลดลง
-  เพศ
• ด้านผลผลิต จากการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเพศชายกับเพศหญิงในเรื่องผลผลิต เพียงแต่เพศที่ต่างกันจะได้รับมอบหมายงานที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม
• ด้านการขาดงาน พบว่าเพศหญิงมาอัตราการขาดงานสูงกว่าเพศชาย เพราะในวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นทางยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย เพศหญิงมีภาระที่ต้องดูแลบ้าน ครอบครัว แต่การศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ภาระเรื่องครอบครัวมีแนวโน้มจะเป็นของเพศชายเพิ่มมากขึ้น
• ด้านการลาออกจากงาน พบว่ามีความก้ำกึ่งกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงจะมีแนวโน้มการลาออกจากงานมากว่าเพศชายเพราะภาระต้องดูแลทางบ้าน ครอบครัว
• ด้านความพึงพอใจในงาน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ นั้นคือ เพศชายและหญิงมีความพึงพอใจในงานหรือไม่พอใจในงานได้เท่า ๆ กัน ขึ้นอยู่กับปัญหาแต่ละกรณี
-  สถานภาพการสมรส
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าพนักงานที่สมรสแล้วจะมีอัตราการขาดงานต่ำ แนวโน้มการลาออกจากงานมีน้อย และยังมีความพึงพอใจในการทำงานสูงกว่าพนักงานที่เป็นโสด ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าพนักงานทีแต่งงานแล้วย่อมมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำงานให้ต่อเนื่องและมั่นคงที่สุด
-  ระยะเวลาที่ทำงานในองค์การ
ประการสุดท้ายคือเรื่องระยะเวลาที่ทำงานกับองค์การหรือที่เรียกกันว่า “อายุงาน” หรือ “อาวุโส”  จากผลการศึกษาพบว่า พนักงานที่มีความอาวุโสในการทำงานมากจะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ดังนั้น อาวุโสในการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานจึงเป็นตัวชี้บ่งที่ดีสำหรับการวัดผลงาน และพบว่าพนักงานที่มีความอาวุโสในการทำงานมากจะมีอัตราการขาดงาน และอัตราการลาออกค่อนข้างต่ำ ซึ่งหากแยกเอาความอาวุโสในการทำงาน (Seniority or Tenure) ออกจากอายุ (Age) จะพบว่าความอาวุโสจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับความพึงพอใจในงาน
ตอนนี้ขอติดไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ตัวแปรที่ 2 - 3 จะนำมาเสนอในตอนต่อไปครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ
  2. thank you very much for all theories information..it very useful...
    just one question..do you have any information about Victor Frankel or Viktor E. Frankl? I need it for my assignment..thank again..

    ตอบลบ