วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 10 ความพึงพอใจในงาน

ความพึงพอใจในงาน (Job Satisfaction) หมายถึงทัศนคติเกี่ยวกับงานของพนักงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมในงานของเขา เช่น เรื่องค่าตอบแทน โอกาสในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ความก้าวหน้าในงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ความพึงพอใจในงานยังเกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมของงาน ได้แก่ รูปแบบการบริหาร นโยบาย ขั้นตอนการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ


การวัดความพึงพอใจในงาน
ในการวัดความพึงพอใจในงานนั้น นิยมใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจ โดยแบบสอบถามจะมีตัวเลือกเป็นมาตราส่วนประเมินค่าที่ผู้ตอบให้ตามลำดับค่าน้ำหนักของแต่ละตัวเลือก ซึ่งแบบสอบถามที่นิยมใช้กันมากได้แก่
1.   ดัชนีบ่งชี้งาน (Job Descriptive Index; JDI) เป็นเครื่องมือที่ใช้แพร่หลายที่สุด ประกอบด้วยคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน เช่น ด้านเกี่ยวกับลักษณะของงาน ด้านเงินเดือนค่าตอบแทน ด้านโอกาสก้าวหน้า ด้านการสอนงาน ด้านเพื่อนร่วมงาน โดยให้ผู้ตอบตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ คำตอบจะบอกให้ทราบทิศทางของความพึงพอใจว่ามีมากน้อยแค่ไหน
2.   แบบสอบถามความพอใจของมินเนโซต้า (Minnesota Satisfaction Questionnaire; MSQ) วิธีนี้มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาแบบสอบถามนี้ เป็นวิธีที่ให้ผู้ตอบระบุระดับของความพอใจหรือไม่พอใจในแต่ละด้านของงาน เพื่อใช้วัดความคิดเห็นและความพอใจที่มีต่องาน เช่น ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือด้านโอกาสก้าวหน้า เป็นต้น
3.   แบบสอบถามความพอใจค่าตอบแทน (Pay Satisfaction Questionnaire; PSQ) เป็นแบบสอบถามที่เจาะจงเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน โดยเครื่องมือนี้จะวัดระดับความพอใจที่มีต่อแต่ละประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเดือนหรือค่าตอบแทน เช่น ระดับเงินเดือน อัตราการขึ้นเงินเดือน การให้ผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะต่าง ๆ โครงสร้างเงินเดือน เป็นต้น
การประเมินความพึงพอใจในงาน
การประเมินความพึงพอใจในงานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มี 2 วิธี คือ
1.   การวัดแบบให้คะแนนแบบเดี่ยว (Single global rating) เป็นวิธีการถามคำถามและให้พนักงานตอบเป็นรายบุคคล และมีการให้คะแนนการตอบเป็นช่วงลำดับระหว่าง 1-5 เช่น พึงพอใจมากที่สุด (5), พึงพอใจมาก (4), เฉย ๆ (3), ไม่ค่อยพอใจ (2), ไม่พอใจอย่างมาก (1)
2.   การวัดแบบให้คะแนนรวบยอด (Summation Score) เป็นวิธีการประเมินความคิดเห็นของพนักงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยการใช้สเกลการวัดซึ่งถามผู้ตอบโดยให้แบ่งสัดส่วนจากคะแนน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ 100 คะแนน เพื่อระบุถึงความสำคัญที่สัมพันธ์กันของคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานและถามความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อปัจจัยดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับธรรมชาติของงาน การกำกับดูแลงาน อัตราค่าจ้าง โอกาสความก้าวหน้าในงาน เป็นต้น
สิ่งที่กำหนดถึงความพึงพอใจในงาน
จากการศึกษางานวิจัยทางด้านนี้พบว่า สิ่งที่มีความสำคัญซึ่งเป็นตัวกำหนดถึงความพึงพอใจในงานของบุคคลประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.   งานที่ท้าทายระดับสติปัญญา (Mentally challenging work) หมายถึงการที่พนักงานมีแนวโน้มที่จะชอบงานที่ให้โอกาสในการใช้ทักษะและความสามารถ รวมทั้งงานที่ทำมีความหลากหลาย มีอิสระในงาน และมีข้อมูลป้อนกลับในงานที่ทำ ลักษณะเหล่านี้ทำให้เกิดการท้าทายทางสติปัญญา ทำให้พนักงานมีความสุขและพอใจการทำงาน
2.   ความเสมอภาคในการได้รับรางวัล (Equitable rewards) พนักงานมีความต้องการระบบการจ่ายค่าจ้างและเลื่อนตำแหน่งที่ยุติธรรม เพราะถ้าองค์การจ่ายค่าจ้างให้ตามมาตรฐานของค่าแรงและมีสวัสดิการตามสมควร พนักงานก็จะมีความพึงพอใจ  เช่นเดียวกับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่มีความยุติธรรม เพราะการเลื่อนตำแหน่งเป็นโอกาสในการก้าวหน้าของพนักงาน เป็นการเพิ่มสถานภาพทางสังคม
3.   การให้การสนับสนุนช่วยเหลือเกี่ยวกับการทำงาน (Supportive working condition) พนักงานจะให้ความสนใจถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งในแง่ของความสะดวกสบายส่วนตัวและความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงาน พนักงานจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่ดี มีระดับอุณหภูมิพอเหมาะ แสงสว่างได้มาตรฐาน และพนักงานจะชอบสถานที่ทำงานที่มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย
4.   การช่วยเหลือสนับสนุนของเพื่อนร่วมงาน (Supportive colleagues) บุคคลย่อมต้องการปฏิกิริยาโต้ตอบทางสังคม ดังนั้น มิตรภาพ และความช่วยเหลือสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานจึงเป็นการเพิ่มความพึงพอใจให้พนักงานมากขึ้น
5.   บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับงาน (The personality-job fit) จากทฤษฎี Holland’s personality-job fit theory มีข้อสรุปว่า ถ้าบุคลิกภาพของบุคคลกับสายงานอาชีพมีความสอดคล้องกันในระดับสูง จะทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในงานสูงเช่นด้วยกัน โดยเหตุผลที่ว่า บุคคลที่มีบุคลิกภาพเข้ากันได้กับงานอาชีพที่เขาเลือก จะพบว่าเขาเหล่านั้นจะเข้ากันได้ดีกับงาน จึงมีความพอใจในงานและประสบความสำเร็จในงาน

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 9/2 ทัศนคติเกี่ยวข้องกับองค์การอย่างไร

ทัศนคติ (Attitudes) เรามักจะพูดกันติดปากกับคำว่าทัศนคติ เช่น มีทัศนคติที่ดี หรือไม่ดีต่อสิ่งใด แล้วทัศนคติมันคืออะไร
ทัศนคติ (Attitudes) หมายถึง ความโน้มเอียงในทางบวกหรือลบ ที่บุคคลจะตอบสนองต่อเป้าหมายบุคคลหรือเหตุการณ์ ทัศนคติจะสะท้อนความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและอยู่รอบตัวเขา เช่น ตนเอง ครอบครัว งาน เพื่อนร่วมงาน และสังคม เป็นต้น โดยที่บุคคลอาจจะแสดงออกด้วยความตั้งใจหรือความเคยชิน ทัศนคติจึงมีลักษณะเป็นระดับความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ และจะเห็นได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งเป็นระดับทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ
ทัศนคติประกอบด้วยอะไรบ้าง
ทัศนคติ (Components of attitudes) ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1.   ความเข้าใจ (Cognitive component) คือส่วนที่เป็นความรู้ ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดจากการประมวลข้อมูลและเหตุผลประกอบการใช้ภูมิปัญหาและวิจารณญาณ
2.   ความรู้สึก (Affective component) คือส่วนของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมใด ๆ ก็ได้
3.   พฤติกรรม (Behavioral) คือส่วนของความตั้งใจที่จะประพฤติต่อคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นทัศนคติที่แสดงออกโดยการกระทำ
ทัศนคติของบุคคลจะมีบทบาทสำคัญ และเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในองค์การ เช่น การมีส่วนร่วมกับองค์การ (Organization Commitment) การขาดงาน (Absenteeism) การเข้าออกงาน (Turnover) ตลอดจนปริมาณและคุณภาพของงาน

ทัศนคติในการทำงาน
ทัศนคติของสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันขององค์การ โดยทัศนคติที่มีต่องานและต่อองค์การ จะส่งผลต่อความกระตือรือร้น ทุ่มเท และคุณภาพในการทำงานของบุคคล เราจะเห็นว่าบุคคลมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานถ้าเขามีทัศนคติที่ดีต่องาน เช่น งานไม่น่าเบื่อ งานน่าสนใจ มีความท้าทาย ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลนั้นเห็นว่างานมีความน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซาก ไม่มีคุณค่า ไม่น่าภาคภูมิใจ เขาก็จะเกิดความเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น นอกจากนี้ ทัศนคติของบุคคลต่อเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติงาน ดังนั้นทัศนคติในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น เกิดความเครียด ความขัดแย้ง เป็นต้น
ประเด็นสำคัญในการศึกษาทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน มี  3 ประเด็นคือ
1.   ความพึงพอใจในงาน (Job Satisfaction) หมายถึงทัศนคติของคนใดคนหนึ่งที่มีต่องานของเขา โดยพนักงานที่มีความพอใจในงานสูงก็จะมีทัศนคติในทางบวกต่องาน ตรงข้ามกับพนักงานที่ขาดความพอใจในงานก็จะมีทัศนคติในทางลบต่องานที่ทำ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจในงานที่ทำจะมีทั้งปัจจัยทางกายภาพและทางจิตวิทยา เช่น ค่าตอบแทน สวัสดิการ บรรยากาศในการทำงาน ความมั่นคง ความปลอดภัย เป็นต้น
2.   การมีส่วนร่วมในงาน (Job Involvement) หมายถึงทัศนคติของบุคคลที่มีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จในงาน เป็นการรับรู้ในเชิงจิตวิทยาว่าตนเองมีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างไรต่อความสำเร็จในงานที่มีส่วนร่วมทำ ซึ่งพนักงานที่มีส่วนร่วมในการทำงานสูง จะมีความระมัดระวังเกี่ยวกับงานที่ทำสูง การขาดงาน การลาออกจากงานมีน้อย และจะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่
3.   การผูกพันต่อองค์การ (Organization Commitment) หรือความจงรักภักดีต่อองค์การ หมายถึงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานให้กับหน่วยงานหรือองค์การที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ บุคคลที่มีความรัก ซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในองค์การ จะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อให้องค์การเจริญก้าวหน้า บุคคลใดที่มีความรู้สึกผูกพันกับองค์การสูง คนเหล่านั้นจะมีความรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ
ตอนต่อไปเราจะมาต่อกันที่เรื่อง “ความพึงพอใจ” ครับ

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 9/1 ค่านิยม ทัศนคติ มีผลต่อพฤติกรรมองค์การอย่างไร

เรามาเริ่มต้นกันที่ค่านิยมกันก่อนครับ
ค่านิยม (Values) หมายถึงความเชื่อมั่นพื้นฐานซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมของบุคคลหรือสังคม หรือความรู้สึกชื่นชม นิยม หรือการเห็นคุณค่าในตัวบุคคล สิ่งของ ตลอดจนความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งค่านิยมก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ทางด้านดี หมายถึงสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ต้องการ ส่วนทางด้านที่ไม่ดี หมายถึงสิ่งที่ไม่ดีและไม่เป็นที่ต้องการ
ค่านิยมมีความสำคัญสำหรับการศึกษาพฤติกรรมองค์การก็เพราะว่า จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และการจูงใจ และยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคล รวมไปถึงมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลอีกด้วย
Milton Rokeach (1973) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้กล่าถึงค่านิยมว่า หมายถึงความเชื่อที่เป็นแนวทางการแสดงออก (Action) และการใช้วิจารณญาณ (Judgment) ในสถานการณ์ที่หลากหลายของบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การมีระบบค่านิยมที่ต่างกันก็จะมีการแสดงออกที่ต่างกันด้วย โดยค่านิยมจะมีอิทธิพลต่อทัศนคติ การรับรู้ ความต้องการ และการจูงใจ
Rokeach ได้จัดกลุ่มค่านิยมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.   ค่านิยมขั้นปลาย (Terminal Values) เป็นค่านิยมที่แสดงความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับเป้าหมายสุดท้าย (End) ที่เขาต้องการ
2.  ค่านิยมที่เป็นเครื่องมือ (Instrumental Values) เป็นค่านิยมที่สะท้อนความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับแนวทางที่เขาจะบรรลุเป้าหมายสุดท้าย
ส่วน Gordon Allport และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบค่านิยมและสังคม โดยได้จำแนกค่านิยมของคนออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1.   ค่านิยมตามแนวทฤษฎี (Theoretical) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการหาความจริง (Truth) ที่สามารถพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ตามหลักเหตุผล และการคิดอย่างเป็นระบบ
2.  ค่านิยมตามแนวเศรษฐกิจ (Economic) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานและผลประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งมักจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการสร้างความมั่นคง
3.  ค่านิยมตามแนวความงาม (Aesthetic) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ ความงาม รูปแบบ และการแสดงออกที่สอดคล้องกับสถานการณ์
4.  ค่านิยมตามแนวสังคม (Social) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อความผูกพัน มนุษยสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกันของส่วนรวม
5.  ค่านิยมตามแนวการเมือง (Political) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อการได้มา การธำรงรักษา และการใช้อำนาจเหนือบุคคลอื่น ยกย่องความมีอิทธิพลและอำนาจ ไม่ว่าจะได้มาโดยชอบธรรมหรือก็ตาม
6.   ค่านิยมตามแนวศาสนา (Religious) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ และศรัทธาของบุคคล ตลอดจนการศึกษาและประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจและเป็นเอกภาพกับระบบธรรมชาติ

สำหรับตอนนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปค่อยมาว่ากันถึงเรื่องทัศนคติ