วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 13 ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ทฤษฎีการจูงใจที่มีชื่อสียง ได้รับการยอมรับและนำไปอ้างอิงมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ทฤษฎีนี้ครับ
ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการ (Hierarchy of Needs) ของ MASLOW
          Abraham Maslow (1940) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐ ฯ ได้พัฒนาทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ขึ้น โดยให้ความสนใจกับความต้องการของบุคคลซึ่งจะสร้างความกดดันและแรงขับทางพฤติกรรม โดยได้ตั้งสมมติฐานความต้องการไว้ 3 ข้อ คือ
1. คนมีความต้องการอยู่เสมอและไม่มีที่สิ้นสุด
2. ความต้องการของมนุษย์จะเรียงลำดับตามความสำคัญจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง
3. ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้วไม่สามารถนำมาตัวกระตุ้นได้อีก

Maslow ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ แบ่งเป็น 5 ลำดับดังที่แสดงไว้ดังนี้


1.ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น มีอาหารรับประทาน มีน้ำดื่ม มีเสื้อผ้า มีชั่วโมงทำงานอย่างเหมาะในแต่ละวัน จัดสถานที่ทำงานให้สะดวกสบาย จัดให้มีเครื่องมือในการทำงานให้ครบ และจัดให้มีเวลาหยุดพักผ่อนระหว่างเวลาทำงานเป็นระยะ
2.ความต้องการด้านความปลอดภัย และมั่นคง (Safety/Security Needs) เป็นความต้องการปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน เช่น ผู้บริหารต้องจัดให้มีสภาพการทำงานที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัย ให้มีความมั่นคงในการทำงาน มีเงินเดือนและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม
3.ความต้องการด้านสังคมและการยอมรับ (Social Belonging Needs) ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คือการมีผู้ร่วมงานที่มีความเป็นมิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามีหัวหน้าที่มีมนุษย์สัมพันธ์
4.ความต้องการยกย่อง นับถือ (Esteem Needs) เป็นความต้องการได้รับความนับถือ ความมีชื่อเสียง คือความรับผิดชอบงานที่มีความสำคัญสูง การได้รับความชมเชย และการยอมรับจากหัวหน้า และการได้เลื่อนตำแหน่งที่มีสถานภาพที่สูงขึ้น
5.ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Needs for Self Actualization) เป็นความต้องการที่ใช้ความสามารถสูงสุดที่ตนมีอยู่ทำในสิ่งที่สามารถจะทำได้ ได้แก่ ลักษณะการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและมีอิสระสูง การให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 12 การจูงใจ

ตอนต่อไปนี้ เราจะมาศึกษากันถึงเรื่องการจูงใจกันครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็นตอน ๆ ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีการจูงใจแบบต่าง ๆ
การจูงใจ (Motivation) หมายถึง แรงผลักดันจากความต้องการและความคาดหวังต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อให้แสดงออกตามที่ต้องการ
การจูงใจ เป็นสิ่งเร้าซึ่งทำให้บุคคลเกิดความคิดริเริ่ม ควบคุม รักษาพฤติกรรม และการกระทำ (ธนวรรธ ตั้งสินทรัพย์ศิริ. 2547: 292) มนุษย์มีความต้องการทางด้านร่างกาย (ปัจจัย 4) และมีความต้องการด้านอื่น เช่น การยกย่อง สถานะ ความรัก การประสบความสำเร็จ
          จากหลักการของการจูงใจนี้ ผู้บริหารจึงได้นำมาใช้จูงใจเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำในสิ่งต่าง ๆ ด้วยความพอใจและเต็มใจ
ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับคนโดย Douglas McGregor
          Douglas McGregor ได้เสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลแสดงในข้อสมมติ 2 ประการ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทฤษฎี X และทฤษฎี Y ซึ่งทฤษฎีนี้ต้องการความคิดในการรับรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีข้อสมมติ 2 ประการ ดังนี้
1.    ทฤษฎี  X (Theory X assumption) ข้อสมมติเกี่ยวกับลักษณะของบุคคลตามทฤษฎี X มีดังนี้
1.1    โดยทั่วไปมนุษย์ไม่ชอบทำงาน และจะหลีกเลี่ยงงานถ้าสามารถทำได้
1.2   คนส่วนใหญ่ต้องถูกบังคับ ควบคุม สั่งการและใช้วิธีการลงโทษเพื่อให้ใช้ความพยายามให้เพียงพอ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
1.3   มนุษย์โดยเฉลี่ยพอใจการถูกบังคับ ต้องการเลี่ยงความรับผิดชอบ มีความทะเยอทะยานน้อย และต้องการความปลอดภัย
1.4   คนส่วนใหญ่ไม่เต็มใจและไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาขององค์การได้
2.    ทฤษฎี Y (Theory Y assumption) ข้อสมมติเกี่ยวกับลักษณะบุคคลตามทฤษฎี Y มีดังนี้
2.1   งานเป็นสิ่งปกติธรรมดาเหมือนกับการเล่นหรือพักผ่อน
2.2  คนต้องการควบคุมและสั่งการด้วยตนเองในการทำงานเพื่อความสำเร็จหรือบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
2.3  รู้จักการเรียนรู้ในสภาวะที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ และแสวงหาความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วย
2.4  คนมีความเต็มใจในการร่วมแก้ไขปัญหาขององค์การ
ทฤษฎี X มองคนในแง่ลบ พนักงานในกลุ่มนี้จะไม่กระตือรือร้น ไม่ชอบทำงาน คอยจะหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ และจะต้องเข้มงวดในการควบคุมดูแลจึงจะทำงานได้ประสิทธิผล ในขณะที่พนักงานในกลุ่มทฤษฎี Y จะถูกมองในแง่บวก มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แสวงหาความรับผิดชอบ มีนิสัยรักการทำงาน การแบ่งกลุ่มพนักงานออกเป็น 2 กลุ่มก็เพื่อจะได้ใช้วิธีการจูงใจอย่างถูกต้อง กลุ่มทฤษฎี X จะต้องจูงใจทางลบ เช่น การใช้กฎ ระเบียบ การลงโทษ ส่วนกลุ่มทฤษฎี Y จะต้องจูงใจทางบวก เช่น การให้รางวัล ยกย่อง ให้ความสัมพันธ์ที่ดี ให้อิสสระหรือให้มีส่วนร่วม หากใช้วิธีการจูงใจไม่ถูกต้อง การจูงใจก็จะไม่เป็นผล

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 11/2 ทฤษฎีการเลือกอาชีพของฮอลแลนด์ (ต่อ)

ขอต่อจากตอนที่แล้วนะครับ ในเรื่องอาชีพ 6 ประเภทที่ฮอลแลนด์ได้จำแนกเอาไว้ครับ
ฮอลแลนด์ได้จำแนกลักษณะบุคลิกภาพตามความสนใจอาชีพต่าง ๆ 6 ประเภทเอาไว้ ดังนี้
1. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานช่างฝีมือและกลางแจ้ง (Realistic) บุคคลกลุ่มนี้ ชอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ เครื่องมือจักรกล และสัตว์เลี้ยง แต่ไม่ชอบกิจกรรมด้านการศึกษาและการแพทย์ ดังนั้นบุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถทางด้านการช่าง เครื่องยนต์ การเกษตร ไฟฟ้า และเทคนิค แต่ด้อยความสามารถทางด้านสังคมและการศึกษา
2. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Investigative) บุคคลกลุ่มนี้ ชอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การสังเกตสัญลักษณ์การจัดระบบ การทดลองด้านกายภาพ ชีวภาพ และปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม เพื่อจะได้เข้าใจและควบคุมปรากฏการณ์นั้น ๆ แต่ไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชักชวน การเข้าสังคม และการเลียนแบบ ดังนั้นบุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และการคำนวณ แต่ด้อยความสามารถทางด้านการโฆษณาชักชวน
3. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานบริการการศึกษาและสังคม (Social) บุคคลกลุ่มนี้ชอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ การฝึกหัด การพัฒนา การอนุรักษ์ และการสั่งสอน แต่ไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเครื่องมือ เครื่องยนต์ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถ ทางด้าน มนุษยสัมพันธ์ เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานบริการวิชาการแต่ด้อยความสามารถด้านการช่างและเทคนิค
4. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานสำนักงานและเสมียน (Conventional) บุคคลกลุ่มนี้ชอบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นการจัดระบบหรือระเบียบ เช่น เก็บรายงาน จัดข้อมูล คัดลอกข้อมูล จัดหมวดหมู่รายงาน และข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข แต่ไม่ชอบกิจกรรมที่เป็นนามธรรม มีอิสระ ต้องค้นคว้า ไม่เป็นระบบแบบแผน ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถทางด้านงานสารบรรณ การคำนวณ งานธุรกิจ แต่ด้อยความสามารถทางด้านศิลปะ
5. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานจัดการและค้าขาย (Enterprising) บุคคลกลุ่มนี้ชอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน หรือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสังเกต เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นระเบียบแบบแผน ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถ ทางด้านการเป็นผู้นำ การประชาสัมพันธ์ การชักชวน แต่ด้อยความสามารด้านวิทยาศาสตร์
          6. บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจอาชีพประเภทงานศิลปะ ดนตรีและวรรณกรรม (Artistic) บุคคลกลุ่มนี้ชอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนามธรรม เป็นอิสระไม่เป็นระเบียบแบบแผน แต่ไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรูปธรรม เป็นระเบียบแบบแผนดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสามารถทางด้านศิลปะ ภาษา ดนตรี การละคร การเขียน แต่ด้อยความสามารถด้านธุรกิจ งานสารบรรณ

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 11/1 ทฤษฎีการเลือกอาชีพของฮอลแลนด์

ทฤษฎีการเลือกอาชีพของฮอลแลนด์
จอห์น แอล ฮอลแลนด์ (John L. Holland) เป็นผู้สร้าง "แบบสำรวจความพอใจในอาชีพ" (The Vocational Preference Inventory) ได้สร้าง "ทฤษฎีการเลือกอาชีพ" ขึ้นโดยมีความคิดพื้นฐาน 4 ประการ (Holland. 1973: 2 - 4) ดังนี้
1. บุคลิกภาพ ของบุคคลทั่วไปแบ่งได้เป็น 6 ลักษณะ ตามความสนใจอาชีพประเภทต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ งานช่างฝีมือและกลางแจ้ง งานวิทยาศาสตร์และเทคนิค งานบริการการศึกษาและสังคม งานสำนักงานและเสมียน งานจัดการและค้าขาย งานศิลปะดนตรี และ วรรณกรรม บุคลิกภาพ แต่ละลักษณะเป็นผลจาก การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ กับ แรงผลักดันส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วย ศักดิ์ตระกูล บิดามารดา ระดับชั้นทางสังคม และ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ประสบการณ์เหล่านี้ จะก่อให้เกิด ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ และ ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบนี้ จะกลายเป็น ความสนใจ และจาก ความสนใจ จะนำไปสู่ ความสามารถเฉพาะ ท้ายที่สุด ความสนใจ และ ความสามารถเฉพาะ จะกำหนดให้บุคลิกคิด รับรู้ และแสดงเอกลักษณ์ของตน
2. สิ่งแวดล้อมของบุคคลก็แบ่งได้เป็น 6 อย่างตามความสนใจอาชีพประเภทต่าง ๆ ข้างต้นเช่นเดียวกัน สิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างนี้ ถูกครอบงำโดยบุคลิกภาพ และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาและความกดดันบางประการ และโดยเหตุที่บุคลิกภาพต่างกัน ทำให้ความสนใจ และความถนัดต่างกันด้วย บุคคลจึงมีแนวโน้ม จะหันเข้าหาบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของตน ดังนั้น บุคคลในกลุ่มเดียวกันจึงมักจะมีอะไร ๆ คล้าย ๆ กัน
3. บุคคลจะค้นหาสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยให้เขาได้ฝึกทักษะ และใช้ความสามารถของเขา ทั้งยังเปิดโอกาส ให้เขาได้แสดงทัศนคติ ค่านิยม และบทบาทของเขา
4. พฤติกรรมของบุคคลถูกกำหนดโดยบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราทราบบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อมบุคคล ก็จะทำให้เราทราบถึง ผลที่จะติดตามมาด้วย ซึ่งได้แก่การเลือกอาชีพ การเปลี่ยนงาน ความสำเร็จในอาชีพ ความสามารถเฉพาะ พฤติกรรมทางการศึกษาและสังคม
ฮอลแลนด์ได้กล่าวถึง "การเลือกอาชีพ" ไว้ว่า "การเลือกอาชีพคือ การกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึง แรงจูงใจ ความรู้ บุคลิกภาพ และความสามารถของบุคคล อาชีพเป็นวิถีชีวิต ส่วนสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นงานและทักษะ"