วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 20 การรวมกลุ่มมีประโยชน์อย่างไร

Harold Leavitt (1975) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Suppose We took Groups Seriously ว่า ผู้จัดการในแต่ละองค์การสมควรที่จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในฐานะทรัพยากรที่มีค่าขององค์การเนื่องจากการรวมกลุ่มมีประโยชน์ดังต่อไปนี้
1.       กลุ่มมีประโยชน์ต่อบุคคลทั้งในทางกายภาพและจิตใจ บุคคลอาจเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยมีเหตุผลและวัตถุประสงค์ของตน ซึ่งอาจเกิดจากผลตอบแทนที่จะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ชื่อเสียง อำนาจ เป็นต้น
2.      กลุ่มสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เนื่องจากการบูรณาการของความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของสมาชิก
3.      กลุ่มช่วยให้สมาชิกสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ผ่านการรวบรวม แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ข้อมูล และการระดมความคิด (Brainstorming)
4.      กลุ่มช่วยกระตุ้นให้มีการนำผลของการตัดสินใจไปใช้ปฏิบัติ ทำให้สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม
5.      กลุ่มมีส่วนในการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานขึ้นเป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงานของสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะได้รับและถ่ายทอดความเชื่อ รวมทั้งพฤติกรรมกลุ่มผ่านกระบวนการทางสังคม (Socialization)ทำให้แต่ละคนมีรูปแบบของความประพฤติไปในทิศทางเดียวกัน
6.       กลุ่มมีส่วนในการลดข้อด้อยขององค์การ การรวมกลุ่มจะช่วยให้การติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้องค์การพัฒนาศักยภาพและลดจุดอ่อนของแต่ละบุคคลลงได้

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 19 ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่ม

ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่ม (Group Behavior Model)
ในการศึกษาพฤติกรรมกลุ่ม เราต้องดูถึงตัวแบบพฤติกรรมกลุ่มว่าประกอบไปด้วยอะไร มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะมีผลอย่างไรกับพฤติกรรมที่แสดงออกมาซึ่งก็คือผลลัพธ์นั่นเอง
ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่มจะเริ่มที่องค์ประกอบแรกคือ อิทธิพลของเงื่อนไขภายนอกที่มีต่อกลุ่ม (External conditions imposed on the group) “กลุ่ม” อาจเป็นหน่วยงานย่อยหรือแผนกงานย่อยขององค์การ การทำงานของกลุ่มจึงต้องอยู่ภายใต้นโยบายโดยรวมขององค์การ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ กฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์การ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่องค์การมีอยู่ และวัฒนธรรมขององค์การนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขภายนอกที่มีผลต่อการทำงานของกลุ่ม โดยเฉพาะหากเป็นบริษัทลูก ก็ต้องอยู่ภายใต้นโยบายของบริษัทแม่
ต่อมาก็คือทรัพยากรสมาชิกกลุ่ม (Group Member Resources) ซึ่งก็คือคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม ระดับความสามารถในการทำงานของกลุ่ม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เช่น ความสามารถ คุณลักษณะ ความรู้ ทักษะของสมาชิกกลุ่ม
ส่วนที่ 3 ได้แก่โครงสร้างกลุ่ม (Group Structure) แต่ละกลุ่มงานจะมีโครงสร้างของกลุ่ม มีการแบ่งงาน กำหนดสายการบังคับบัญชา กำหนดช่วงการบังคับบัญชา และกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ซึ่งโครงสร้างกลุ่มจะทำหน้าที่กำหนดสิ่งต่าง ๆได้แก่
1.1    ผู้นำที่เป็นทางการ (Formal Leader) ซึ่งโดยปกติ ทุก ๆ กลุ่มงานจะต้องมีผู้นำหรือหัวหน้า ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของกลุ่ม
1.2   บทบาท (Roles) คือรูปแบบของพฤติกรรมที่ได้รับการคาดหวังของบุคคลแต่ละตำแหน่งในหน่วยสังคมนั้น โดยสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะมีบทบาทที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์
1.3   บรรทัดฐาน (Norms) หมายถึง มาตรฐานพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รับรู้ร่วมกันของกลุ่ม บรรทัดฐานจะเป็นตัวกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มต้องปฏิบัติตาม เช่น การปฏิบัติตัว การแต่งกาย
1.4   สถานะ (Status) คือตำแหน่งหรือระดับชั้นหรือสถานภาพของบุคคลในกลุ่ม ซึ่งในสังคมมนุษย์ทั่วไปจะมีการแบ่งแยกชั้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างของสมาชิก และเป็นสิ่งจูงใจในการแสดงออกด้านพฤติกรรมต่าง ๆ
1.5   ขนาด (Group Size) ขนาดของกลุ่มจะมีผลต่อพฤติกรรมโดยรวมของกลุ่ม เช่น กลุ่มขนาดเล็กจะทำงานได้เสร็จเร็วกว่ากลุ่มใหญ่ แต่ถ้าต้องระดมความคิด แก้ไขปัญหา กลุ่มใหญ่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า
1.6    องค์ประกอบของกลุ่ม (Composition) การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ ทักษะที่หลากหลายของสมาชิก ดังนั้นกลุ่มที่มีสมาชิกที่มีความหลากหลายทั้งเพศ ความรู้ มุมมอง ทักษะ จะมีความได้เปรียบ
1.7   ความผูกพันในกลุ่ม (Group Cohesiveness) คือความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เป็นความผูกพันซึ่งกันและกัน และการมีส่วนร่วมในวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลุ่มที่มีความสามัคคีกันมาก จะมีผลการทำงานที่ดี
ซึ่งทั้งทรัพยากรสมาชิกกลุ่มและโครงสร้างกลุ่มจะประกอบเข้ากันเป็นกระบวนการกลุ่ม (Group Processes) ซึ่งเป็นการพิจารณาถึงกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องกันไปภายในกลุ่มทำงานประกอบไปด้วยรูปแบบการสื่อสารของสมาชิก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การตัดสินใจ พฤติกรรมผู้นำ ความขัดแย้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกลุ่มการทำงาน (Task Group) ที่เป็นปัจจัยอีกประการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในการจัดกลุ่มเพื่อการทำงาน ผู้บริหารควรจะต้องพิจารณาถึงขนาดของภารกิจที่ต้องทำ ซึ่งหากเป็นภารกิจที่ต้องใช้การปรึกษาหารือ การระดมสมอง ข้อมูล ความคิด ผู้บริหารควรจัดเป็นกลุ่มการทำงานขนาดใหญ่จะเหมาะสมกว่า
          ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือผลงานและความพึงพอใจ (Performance and Satisfaction) ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างองค์การ การกำหนดอำนาจหน้าที่ กลยุทธ์องค์การ การให้ผลตอบแทน เป็นต้น ส่วนความพึงพอใจในงานนั้น จากการศึกษาพบว่ากลุ่มขนาดใหญ่จะมีความพึงพอใจในงานน้อยกว่ากลุ่มขนาดเล็ก เนื่องจากความมีส่วนร่วมในงานของกลุ่มขนาดใหญ่จะน้อย และกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก อาจเกิดความขัดแย้งได้ง่าย

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 18 พัฒนาการของกลุ่ม

พัฒนาการของกลุ่ม (Group Development)
เราสามารถแบ่งขั้นตอนการพัฒนาของกลุ่มโดยทั่วไปออกได้เป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่
1.       การก่อตัว (Forming) บุคคลแต่ละคนเริ่มที่จะเข้ามารวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยที่การรวมตัวกันยังไม่มีจุดประสงค์ โครงสร้าง และลักษณะการทำงานของกลุ่มที่ชัดเจน โดยสมาชิกต่างจะมีการทดสอบพฤติกรรม การแสดงออก และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อที่จะดูท่าที การยอมรับ การต่อต้าน และพยายามหาแนวทางสำหรับอนาคต
2.      ภาวะโกลาหล (Storming) เนื่องจากบุคคลแต่ละคนจะมีเอกลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่แต่ละคนมารวมตัวกันย่อมเกิดความขัดแย้ง (Conflict) ขึ้น โดยความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือบุคคลต่อกลุ่ม ซึ่งทำให้สมาชิกในกลุ่มต้องปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่เหมาะสม และสมาชิกที่ไม่สามารถอยู่กับกลุ่มได้จะแยกตัวออกไป
3.      การสร้างบรรทัดฐาน (Norming) สมาชิกจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล มีการสร้างค่านิยม บรรทัดฐาน ความสามัคคีในหมู่คณะ ตลอดจนมีการจัดโครงสร้างของกลุ่มและวางแนวปฏิบัติที่เหมาะสม
4.      การปฏิบัติงาน (Performing) เมื่อกลุ่มมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับจนกระทั่งสมาชิกมีความเข้าใจร่วมกันและมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมของกลุ่มแล้ว กลุ่มก็จะทำหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
5.       การแยกตัว (Separating) เมื่อกลุ่มบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้แล้ว ถ้าไม่มีการปรับปรุงเป้าหมายหรือวางแนวทางการปฏิสัมพันธ์ใหม่ สมาชิกแต่ละคนก็จะแยกย้ายกันออกไปจากกลุ่ม ส่งผลให้กลุ่มสลายตัวในที่สุด

สำหรับตอนนี้ขอสั้น ๆ แค่นี้ครับ ตอนต่อไปจะเขียนถึงตัวแบบพติกรรมกลุ่มครับ

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 17/2 กลุ่มคืออะไร

ในตอนนี้เราจะมาเริ่มทำความรู้จักกับ "กลุ่ม" กันครับ
ความหมายของกลุ่ม
กลุ่ม มีความหมายโดยทั่วไป คือ การรวมตัวกันของคณะบุคคล เพื่อที่จะทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งการให้ความหมายลักษณะนี้จะเป็นการให้ความหมายที่กว้าง แต่การศึกษาในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ จะต้องมีคำจำกัดความหรือนิยามที่ชัดเจน ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างดังนี้
Robbins (1993) ให้คำจำกัดความว่า กลุ่ม หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน โดยมีปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์ (2551) ได้ความหมายไว้ว่า คือระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานของกลุ่มหรือบทบาทและหน้าที่ของสมาชิก เพื่อที่จะทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนสมาชิกต่างมีความรู้สึกร่วมในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

ประเภทของกลุ่ม
เราสามารถจำแนกประเภทของกลุ่มในแต่ละองค์กรได้ 2 ประเภท ได้แก่
1.       กลุ่มแบบเป็นทางการ (Formal Group)
กลุ่มแบบเป็นทางการ หมายถึงกลุ่มที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามโครงสร้างขององค์การ เพื่อที่จะทำกิจกรรมสนองความต้องการขององค์การ โดยกลุ่มที่เป็นทางการจะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
-          กลุ่มตามสายบังคับบัญชา (Command Group) หมายถึงกลุ่มที่ถูกต้องขึ้นมาตามโครงสร้างขององค์การที่มีอยู่แล้ว เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
-          กลุ่มทำงานเฉพาะ (Task Group) หมายถึงกลุ่มที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมเฉพาะอย่างให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้
2.      กลุ่มแบบไม่เป็นทางการ (Informal Group)
กลุ่มแบบไม่เป็นทางการ หมายถึงกลุ่มที่สมาชิกจัดตั้งหรือรวมตัวขึ้นมาเอง โดยไม่เป็นไปตามคำสั่งหรือโครงสร้างขององค์การ ซึ่งมักจะก่อตั้งจากความสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิก และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการได้ในระยะเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยกลุ่มแบบไม่เป็นทางการอาจถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะต่อไปนี้
-          กลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน (Interest Group) หมายถึงกลุ่มที่รวมตัวเนื่องจากมีความสนใจหรือมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย
-          กลุ่มมิตรภาพ (Friendship Group) หมายถึงกลุ่มที่รวมตัวกันจากบุคคลที่มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยมากจะเป็นลักษณะร่วมบางประการที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น ลักษณะงาน อายุ พื้นฐานการศึกษา ลักษณะทางกายภาพ
นอกจากการแย่งประเภทของกลุ่มตามลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผู้แบ่งกลุ่มตามความสัมพันธ์ทางสังคมออกเป็น 2 ลักษณะต่อไปนี้
1.       กลุ่มแบบปฐมภูมิ (Primary Group) หมายถึงกลุ่มขนาดเล็กที่เกิดจากความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันของสมาชิกภายในกลุ่ม โดยความสัมพันธ์ที่กล่าวมามักจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น ความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
2.      กลุ่มแบบทุติยภูมิ (Secondary Group) หมายถึงกลุ่มขนาดใหญ่ซึ่งความสัมพันธ์ของสมาชิกจะมีลักษณะเป็นทางการ แบะมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลน้อยกว่ากลุ่มแบบปฐมภูมิ

เหตุผลที่บุคคลเข้าร่วมในกลุ่ม
นอกจากสาเหตุของการมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว เรายังสามารถจำแนกเหตุผลของการรวมกลุ่มออกมาได้อีก 6 ประเภท ได้แก่
1.       ความปลอดภัย (Safety) จากการศึกษาเรื่องแรงจูงใจพบว่า ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัย (Security and Safety Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน (Primary Needs) ที่แต่ละบุคคลต้องการ ซึ่งความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงเพียงความปลอดภัยทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงความปลอดภัยทางด้านจิตใจและเศรษฐกิจอีกด้วย
2.      สถานะ (Status) สมาชิกหลายคนเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ (Image) หรือสถานะทางสังคม เช่น การเข้าเป็นสมาชิกสโมสรต่าง ๆ
3.      การได้รับการนับถือ (Self-esteem) การได้รับการยอมรับนับถือ เป็นความต้องการในขั้นสูงของบุคคล ดังนั้นการเข้าร่วมกลุ่มจะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลภายนอก
4.      การมีส่วนร่วม (Affiliation) หลายคนต้องการเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น สมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่าง ๆ ชมรมผู้สูงอายุ
5.      อำนาจ (Power) เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจในการควบคุม ถ่วงดุล หรือต่อรองกับกลุ่มอำนาจอื่นทำให้สามารถทุ่มเทกำลังความสามารถและทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ เช่นการรวมตัวกันของพนักงานเป็นสหภาพแรงงาน (Labor Union)
6.       ความก้าวหน้า (Achievement) การรวมพลัง (Synergy) ของแต่ละบุคคลจะส่งผลให้กลุ่มสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ความก้าวหน้าหรือความสำเร็จนั้นจะครอบคลุมถึงความก้าวหน้าของกลุ่มหรือองค์การและความก้าวหน้าส่วนบุคคลของสมาชิก

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 17/1 พฤติกรรมกลุ่ม

ตอนต่อไปนี้เราจะมาเริ่มเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมกลุ่มกันครับ         

          พฤติกรรมองค์การระดับกลุ่มนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการนำพฤติกรรมองค์การในระดับบุคคลมารวมกันแต่พฤติกรรมองค์การระดับกลุ่มจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เนื่องจากบุคคลเมื่ออยู่ในกลุ่มจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากพฤติกรรมเมื่ออยู่คนเดียวตามลำพัง พฤติกรรมระดับกลุ่มจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกลุ่ม การสื่อสาร ภาวะผู้นำ วิธีการตัดสินใจของกลุ่ม ความขัดแย้ง และการใช้อำนาจในกลุ่ม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในองค์การ


พฤติกรรมองค์การในระดับกลุ่มจะมีตัวแปรอิสระหรือปัจจัยที่จะส่งผลให้พฤติกรรมของกลุ่มเปลี่ยนแปลงไปซึ่งได้แก่
1. โครงสร้างของกลุ่ม 
          เนื่องจากคุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่ม คือ การมีโครงสร้างของกลุ่ม ซึ่งการที่คนมาอยู่ร่วมกันและเกิดเป็นโครงสร้างนี้ ทำให้แต่ละบุคคลมีบทบาท ( Role ) และมีสถานภาพ  ( Status )  ที่แตกต่างกัน เกิดบรรทัดฐาน ( Norm )  ของกลุ่มและมีการยึดเหนี่ยวสมาชิกให้คงความเป็นกลุ่ม( Cohesiveness )  การที่บุคคลจะมีสถานภาพอย่างไรในกลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อำนาจหน้าที่ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ฐานะทางครอบครัว เป็นต้น ส่วนบทบาทเป็นพฤติกรรมของบุคคลตามสถานภาพที่กลุ่มกำหนดให้ เช่น บุคคลแสดงบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจแก้ไขปัญหา เพราะมีสถานภาพเป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นต้น ส่วนบรรทัดฐานเป็นแบบแผนการปฏิบัติที่กลุ่มสร้างขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกลุ่ม หากใครทำตามบรรทัดฐานก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ หากใครฝ่าฝืนก็จะถูกตำหนิหรือลงโทษ นอกจากนี้ การยึดเหนี่ยวของกลุ่มที่จะทำให้สมาชิกอยากรวมกลุ่มหรือไม่ก็เป็นส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของกลุ่ม จะเห็นได้ว่าสถานภาพและบทบาท บรรทัดฐาน และการยึดเหนี่ยวสมาชิกของกลุ่มล้วนเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของพฤติกรรมกลุ่มภายในองค์การ

2. การสื่อสาร  
การติดต่อสื่อสารมีหน้าที่สำคัญ 4 ประการภายในกลุ่ม ได้แก่ การควบคุม การจูงใจ ความรู้สึก และการให้ข้อมูล โดยการสื่อสารช่วยให้เกิดการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มให้มีการแสดงออกตามลักษณะที่พึงประสงค์ การสื่อสารทำให้เกิดการจูงใจสมาชิกกลุ่มให้มีการปรับปรุงและพัฒนางานให้ดีขึ้น การสื่อสารทำให้สมาชิกกลุ่มมีความรู้สึกพึงพอใจในงานและกลุ่ม และการสื่อสารทำให้สมาชิกกลุ่มได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม ดังนั้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีพฤติกรรมในทิศทางที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และมีความพึงพอใจ

3. ความขัดแย้ง 
ความขัดแย้ง คือ การไม่เห็นพ้องที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม ในสมัยก่อนมองว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เลวร้ายก่อให้เกิดผลกระทบในด้านไม่ดีต่อพฤติกรรมกลุ่มและองค์การ แต่แนวคิดสมัยใหม่มองว่า ความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มและองค์การมีพฤติกรรมเชิงการปรับปรุงและพัฒนา และทำให้ผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้องค์การเจริญเติบโตแบบสร้างสรรค์

4. ภาวะผู้นำและการตัดสินใจของกลุ่ม 
ภาวะผู้นำเป็นการใช้อิทธิพลของผู้นำเพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ การที่ผู้นำใช้ภาวะผู้นำแบบเผด็จการ แบบประชาธิปไตย หรือแบบเสรีนิยมรวมทั้งรูปแบบของการตัดสินใจเป็นแบบผู้นำตัดสินใจเอง หรือให้สมาชิกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ย่อมส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของกลุ่มในทิศทางที่ช่วยเพิ่มหรือลดผลผลิตและความพึงพอใจของสมาชิก
5. อำนาจและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 
อำนาจ  หมายถึง ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นแสดงพฤติกรรมตามที่ตนต้องการ ซึ่งอำนาจอาจเกิดจากตำแหน่งหรือเกิดจากตัวบุคคล ถ้าผู้นำกลุ่มใช้อำนาจอย่างเหมาะสม และสมาชิกกลุ่มให้การยอมรับการใช้อำนาจนั้น จะส่งผลให้พฤติกรรมองค์การของสมาชิกเป็นไปในทางบวก ส่วนการเมืองขององค์การ เป็นการแสวงหาการคุ้มครองและการใช้อำนาจเพื่อเพิ่มพูนหรือปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลหรือกลุ่ม หากกลุ่มสามารถจำกัดพฤติกรรมทางการเมืองได้ โดยพยายามเปิดกว้างในการติดต่อสื่อสาร การลดความไม่แน่นอน และการตระหนักในสาเหตุของการเมือง จะช่วยลดพฤติกรรมทางการเมืองและลดผลกระทบในทางไม่ดีต่อพฤติกรรมองค์การได้

6. ความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ภายในองค์การ  
          นอกจากพฤติกรรมองค์การระดับกลุ่มเป็นผลจากปัจจัยภายในกลุ่มแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในองค์การก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมองค์การเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเท่ากับมีการประสานงานที่ดีระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในองค์การและนำไปสู่ผลผลิตและความพึงพอใจที่ดีของสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ