วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 29 ทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์

ทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Theory) เป็นแนวคิดในสมัยต่อมาที่ศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกของผู้นำที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการนำของเขา ซึ่งได้มีสถาบันทางวิชาการหลายแห่งได้ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
การศึกษาของมหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa Studies) โดย Kurt Lewin และคณะได้แบ่งผู้นำออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
 ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) หมายถึงผู้นำที่รวมอำนาจการบริหารงาน โดยทำหน้าที่ตัดสินใจให้กับกลุ่ม แล้วค่อยสื่อสารความคิดนั้นออกมาให้สมาชิกปฏิบัติ
  ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leader) หมายถึงผู้นำจะเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดและตัดสินใจร่วมกัน
  ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-faire Leader) หมายถึงผู้นำจะจำกัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนกับสมาชิกในกลุ่ม โดยผู้นำจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลและการช่วยเหลือที่จำเป็นแก่สมาชิก และให้สมาชิกตัดสินใจเองตามความเหมาะสม
ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า
-  ผู้นำแบบประชาธิปไตยก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อองค์การมากที่สุด
-  ผู้นำแบบเผด็จการและเสรีนิยมอาจเป็นรูปแบบที่ดีในบางสถานการณ์และบางองค์การ

การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Studies) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้แบ่งลักษณะของผู้นำออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.พฤติกรรมของผู้นำที่มุ่งคน (Employee-centered behavior) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกในกลุ่ม
2.พฤติกรรมของผู้ที่มุ่งงาน (Job-centered behavior) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานและผลลัพธ์ โดยผู้นำจะมีพฤติกรรมที่มุ่งเน้นให้สมาชิกทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
ผลการวิจัยสรุปว่า พฤติกรรมของผู้นำแบบ Employee-centered behavior จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสร้างความพอใจกับพนักงานมากกว่า
การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (The Ohio State Studies) ได้สรุปปัจจัยที่มีผลต่อภาวะผู้นำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. พฤติกรรมที่มุ่งสร้างโครงสร้างงาน (Initiation structure) คือ ผู้นำที่พิจารณาให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติงาน และชี้นำให้สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติตาม ผู้นำประเภทนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง
2. พฤติกรรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ของบุคคล (Consideration) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน มีความเป็นกันเอง ปฏิบัติต่อสมาชิกอย่างเสมอภาค แสดงออกถึงความไว้วางใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
สรุปได้ว่าเมื่อมีพฤติกรรมที่มุ่งสร้างโครงสร้าง (Initiation structure) สูง ก็จะก่อให้เกิดภาวะผู้นำแบบเผด็จการ และเมื่อพฤติกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ (Consideration) สูง ก็จะเกิดภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 28 รูปแบบของผู้นำ

ผู้นำอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
1. ผู้นำแบบเป็นทางการได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง เช่น ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ มีอำนาจในการสั่งการคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
2. ผู้นำแบบไม่เป็นทางการไม่มีตำแหน่ง สถานะ แต่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม แต่ใช้ภาวะผู้นำเพื่อสร้างอำนาจบารมี โดยมีความรู้ความสามารถ มีสัจจะ มาจากผลงานที่ผ่านมา
ทฤษฎีภาวะผู้นำ (Theories of leadership)
1.      ทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ (Trait Theory)
2.      ทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Theory)
3.      ทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์ (Situation Theory)
ทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ (Trait Theory) เป็นแนวความคิดสมัยเริ่มต้น ที่สนใจศึกษาเรื่องของผู้นำและภาวะผู้นำอย่างเป็นระบบ โดยมีความเชื่อว่าผู้นำจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากธรรมดาทั่วไป หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีมหาบุรุษ (The Great Man Theory)” เช่น Alexander, Julius Caesar, Napoleon เป็นต้น โดยบุคคลต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะมีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำ มีเอกลักษณะเฉพาะตัว หรือบางคนเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ “Born to be Leader” อย่างไรก็ตาม แนวคิดของทฤษฎีนี้ยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ และขาดข้อสรุปที่ชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งลักษณะบางอย่างก็ขัดแย้งกัน
งานวิจัยของ Kirkpatrick และ Locke ได้สรุปความแตกต่างของคุณลักษณะของผู้นำกับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้นำไว้ 7 ประการ
1. Drive มีพลังความพยายามและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ทำให้งานที่รับผิดชอบประสบผลสำเร็จ
2. Desire to Lead มีความมุ่งมั่นที่จะมีอิทธิพลหรือนำผู้อื่น โดยการจูงใจให้ผู้อื่นร่วมทำงานด้วยความเต็มใจ
3. Honesty and Integrity มีความซื่อสัตย์และความมั่นคงในความคิดและการกระทำ เพื่อให้ได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้อง
4. Self – Confident มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และพร้อมจะปฏิบัติตามการตัดสินใจของผู้นำ
5. Intelligence มีความเฉลียวฉลาด สามารถรวบรวม วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างวิสัยทัศน์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
6. Job – Relevant Knowledge มีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับบริษัทของตน ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินการอยู่และเทคนิคในการปฏิบัติงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจในฐานะผู้นำได้อย่างถูกต้อง
7. Extraversion มีพลัง มีความกระตือรือร้น ชอบสังคมสามารถพูดคุย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน
ตอนต่อไปเราจะมาว่ากันถึงทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์กันครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 27 อำนาจหมายความว่าอย่างไร

ในตอนที่แล้วเราได้ทราบถึงความหมายของผู้นำไปแล้ว ในตอนนี้เราจะมารู้จักกับสิ่งที่อยู่คู่กับผู้นำ นั่นคือ “อำนาจ” ครับ
อำนาจ หมายถึง ความสามารถที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมของบุคคล
แหล่งที่มาของอำนาจ (Sources of Power)
1. อำนาจที่ได้รับมอบหมาย (Legitimate Power) หรืออำนาจตามกฎหมาย เป็นอำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากองค์การ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในขอบเขตของหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน
2. อำนาจในการให้รางวัล (Reward Power) หมายถึงอำนาจที่บุคคลสามารถให้ผลตอบแทนหรือรางวัลแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นอำนาจเกิดจากเป็นเจ้าของ และผู้เป็นเจ้าของสิ่งนั้นมอบให้ผู้อื่น เนื่องจากพอใจหรือได้รับประโยชน์ นั้นคืออำนาจเนื่องจากสามารถแบ่งปันหรือตอบแทนผู้อื่นในสิ่งที่เขาต้องการ
3. อำนาจในการบังคับ (Cohesive Power) หมายถึงอำนาจที่บุคคลสามารถลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติงานผิดพลาด โดยอาจเป็นอำนาจที่ได้รับตามตำแหน่งหรือจากบุคคล ซึ่งจะทำให้บุคคลอื่นยอมปฏิบัติตาม
4. อำนาจจากความเชี่ยวชาญ (Expert Power) หมายถึงอำนาจอันเกิดจากความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญเหนือผู้อื่น เป็นอำนาจที่ผู้อื่นยอมรับในความรู้ความสามารถดังกล่าว
5. อำนาจจากการอ้างอิง (Reference Power) หรืออำนาจอ้างอิง หมายถึงอำนาจที่เกิดขึ้นจากจากที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีคุณลักษณะส่วนตัว มีคุณค่าหรือมีความสำคัญทำให้ทุกคนยอมรับ เช่น เป็นบุคคลสำคัญที่ทั่วโลกยกย่อง
ตอนนี้ขอสั้น ๆ แค่นี้ก่อนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 26 ภาวะผู้นำ

ตอนต่อไปนี้เราจะมารู้จักกับความหมายของ “ผู้นำและภาวะผู้นำ” กันครับ
ภาวะผู้นำ (Leadership)  หมายถึง ความสามารถในการที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น และจูงใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตามและทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ ที่จะกำหนดหรือชักจูงให้กลุ่มสมาชิกในองค์การทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และการมีอิทธิพลต่อกลุ่มต่างๆในองค์การ
ผู้นำ (Leader) หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถที่จะทำให้องค์การดำเนินไปอย่างก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมาย โดยการใช้อิทธิพลเหนือทัศนคติและการกระทำของผู้อื่น
องค์ประกอบของผู้นำมี 4 ประการ คือ
1. มีอำนาจสั่งการให้คนในองค์การทำตาม มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ
2. มีความสามารถโน้มน้าว ชักจูง จูงใจผู้อื่นให้ทำตาม
3. มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ขององค์การ
4. มีอิทธิผลต่อกลุ่ม และสามารถนำกลุ่มปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
แหล่งของอิทธิพลอาจเป็นแบบเป็นทางการ เช่น มาจากตำแหน่งหน้าที่การบริหารงานภายในองค์กร มีความจริงที่ว่า ผู้นำทุกคนไม่ได้เป็นผู้จัดการ และ ผู้จัดการทุกคนไม่ได้เป็นผู้นำ ถึงแม้ว่าตำแหน่งผู้จัดการนั่นองค์กรแต่งตั้งให้ เป็นทางการอย่างถูกต้อง สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่ในความจริงแล้วยังมีผู้นำที่ไม่เป็นทางการ และมีอำนาจ มากกว่าผู้นำที่เป็นทางการได้เหมือนกัน
ผู้นำ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และเป็นแรงกดดันซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมในการปรับปรุงพัฒนาโดยคำนึงถึงธรรมเนียมปฏิบัติ และเชื่อมต่อกับการกระทำ ซึ่งคนเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร
- การมีวิสัยทัศน์ และความสามารถในการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาวะผู้นำ
- ข้อความที่สื่อต้องแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจน และสามารถกระตุ้นผู้ตามให้คล้อยตามได้
          ผู้บริหารมีส่วนร่วมกันในกระบวนการบริหาร ตั้งแต่การวางแผน การจัดการ และการนำแนะแนวทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชา และการติดตามประเมินผล (การควบคุม) ดังนั้นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ให้คำแนะนำ และกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานอย่างเต็มความสามารถ จึงต้องนำเอาศิลปะของการเป็นผู้นำมาใช้เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ