วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 38 แนวคิดเชิงทฤษฎีต่อการจัดโครงสร้างองค์การ

แนวคิดเชิงทฤษฎีต่อการจัดโครงสร้างองค์การ (Theoretical approaches to organization design)
มีนักวิชาการได้พยายามค้นหาหลักการจัดโครงสร้างองค์การที่มีประสิทธิภาพและนำไปประยุกต์ใช้จริงในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวเนื่องและมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของหลักการจัดโครงสร้างองค์การร่วมสมัย แบ่งออกได้ 3 ทฤษฎี คือ
1.      การจัดโครงสร้างองค์การตามทฤษฎีแบบคลาสสิก (The Classical approach) บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการวางรากฐานการจัดโครงสร้างองค์การตามแนวทางทฤษฎีแบบคลาสสิก คือ Max Weber ซึ่งได้เสนอแนวคิดทฤษฎีระบบราชการ (Bureaucracy Theory) หรือการจัดโครงสร้างองค์การที่มีการกำหนดงาน (Task) อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (Authority) และความสัมพันธ์ในการรายงาน (Reporting relationship) อย่างเป็นทางการ
การจัดโครงสร้างองค์การตามทฤษฎีระบบราชการ (Bureaucracy) ประกอบด้วย 6 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. การแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน (A clear-out division of labor)
2. สายการบังคับบัญชา (Chain of command)
3. กฎ ระเบียบ (Rules and regulation)
4. บุคลากรฝ่ายบริหาร (Administrative staff)
5. มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ (Impersonal)
6. การพิจารณาความดีความชอบ (Advancement system)

2.      การจัดโครงสร้างองค์การตามทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ (Behavior approach) ทฤษฎีนี้จะให้ความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์เป็นหลัก โดยใช้แนวคิดการจัดองค์การแบบคลาสสิกมาเป็นฐานในการกำหนด “ตัวแบบเชิงพฤติกรรมศาสตร์” ซึ่งตัวแบบเชิงพฤติกรรมศาสตร์เพื่อการจัดโครงสร้างองค์การนั้น มี 2 แบบ คือ
            2.1 ทฤษฎีเชิงระบบของลิเคิร์ท (Likert’s system) Rensis Likert ได้ศึกษาถึงความสำคัญระหว่างการจัดโครงสร้างองค์การและประสิทธิภาพขององค์การ และได้พัฒนารูปแบบการจัดโครงสร้างได้ 4 ประเภท ได้แก่
            - ระบบ 1 เป็นองค์การแบบดั้งเดิมที่เน้นหนักความสำคัญไปที่อำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการและสายการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น
            - ระบบ 2 เป็นการจัดองค์การที่มีลักษณะอยู่ค่อนไปทางที่เน้นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารมากกว่าเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร
            - ระบบ 3 เป็นการจัดองค์การที่คล้ายกับระบบ 2 แต่ลักษณะองค์การจะอยู่ค่อนไปทางเน้นความร่วมมือระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร
            - ระบบ 4 เป็นการจัดองค์การที่มีการกระตุ้นให้สมาชิกในองค์การติดต่อสื่อสารอย่างอิสสระกับบุคคลหลายระดับ เป็นการประสานการทำกิจกรรมต่าง ๆ การให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
            2.2 ทฤษฎีระบบสังคมเทคโนโลยี (Sociotechnical System Theory) เป็นการจัดโครงสร้างองค์การที่ให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกในองค์การ ระบบ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ และระดับการปฏิสัมพันธ์ขององค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอก โดยมีแนวคิดว่าเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงานก็นับเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบสังคม เนื่องจากบุคลากรในองค์การอาจต้องมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ไม่ว่าการใช้เทคโนโลยีจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ดังนั้น ระบบเทคโนโลยีย่อมมีผลกระทบต่อทัศนคติ ความคิด และความพึงพอใจของพนักงานทั้งสิ้น
       3.  ทฤษฎีการจัดองค์การตามสถานการณ์ (The Contingency Approach) ทฤษฎีนี้มีความเห็นว่าไม่มีแนวทางการจัดโครงสร้างองค์การใดที่จะเหมาะสมกับองค์การทุกประเภท นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การนั้นแตกต่าง หลากหลายกันออกไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ รูปแบบโครงสร้างองค์การที่เหมาะสมกับองค์การหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอีกองค์การหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ทางเลือกสำหรับการจัดโครงสร้างองค์การจึงแตกต่างหลากหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์นั้น ๆ เป็นสำคัญ

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 37 องค์การ Organization

องค์การ คืออะไร
องค์การ (Organization) คือโครงสร้างที่ตั้งขึ้นตามกระบวนการ โดยมีการรับพนักงานให้เข้ามาทำงานร่วมกันในฝ่ายต่าง ๆ เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การจัดองค์การ  (Organizing)  คือกระบวนการที่กำหนด กฎ ระเบียบ แบบแผน ในการปฏิบัติงานขององค์การซึ่งรวมถึงวิธีการ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
               การจัดองค์การที่เป็นทางการ (Formal organization) เป็นการจัดโครงสร้างขององค์การตามเจตนาหรือบทบาทในการปฏิบัติภายในองค์การ ทั้งนี้เพื่อ
1.      ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทราบถึงอำนาจหน้าที่ของตนเองในการปฏิบัติงาน
2.      บ่งบอกถึงขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลที่ทำงานร่วมกัน
3.      เพื่อความเป็นระเบียบ โดยไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน
              การจัดองค์การที่ไม่เป็นทางการ (Informal organization) คือการรวมกิจกรรมส่วนบุคคลของกลุ่มคนใดโดยปราศจากจุดประสงค์ร่วมกัน เช่น การที่กลุ่มพนักงานมาเล่นกีฬาด้วยกันในช่วงเวลาพักแล้วเกิดความสนิทสนมกัน ทำให้มีการช่วยเหลือร่วมมือกันแม้ว่าจะทำงานกันคนละแผนก เป็นต้น
แผนภูมิองค์การ (Organization Chart) เป็นสิ่งที่อธิบายตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์การที่ได้มีการจัดการและจะแสดงลำดับการรายงานตามโครงสร้างขององค์การ
แผนภูมิองค์การจะทำให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
ลักษณะของงานที่ทำแตกต่างกัน
แสดงตำแหน่งของการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยธุรกิจ
แสดงความสัมพันธ์ของการรายงานและอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้ผู้บังคับบัญชา
ระดับของการจัดการจะเป็นตัวบอกจำนวนชั้นของแผนภูมิการของโครงสร้างองค์การแบบแนวนอน
สมาชิกหรือหน่วยธุรกิจที่อยู่ในระดับเดียวกันจะรายงานต่อบุคคลเพียงคนเดียวที่อยู่ในระดับสูงกว่าเพียงหนึ่งระดับเท่านั้น

ตอนต่อไปจะมารู้จักการจัดโครงสร้างองค์การแบบต่าง ๆ กันครับ