วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 8 การประเมินและอนุมัติโครงการ

การประเมินและอนุมัติโครงการ
            เป็นการพิจารณาถึงความคุ้มค่าและความสมบูรณ์ของโครงการ ซึ่งผู้บริหารจะต้องพิจารณารายละเอียดของโครงการที่เสนอมาว่า มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
            การประเมินโครงการควรดำเนินการดังนี้
1.      วิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อโครงการทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อม เพื่อที่จะได้กำหนดทิศทางและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการได้อย่างถูกต้อง
2.      พิจารณาความสอดคล้องและความสมบูรณ์ของโครงการ ซึ่งดูจากส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้
2.1  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับนโยบายขององค์การหรือไม่
2.2  วิธีการดำเนินงานของโครงการ ขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ สอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบหรือไม่ มีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
2.3  ค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งในแต่ละกิจกรรมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งโครงการเป็นจำนวนเท่าไหร่ แยกเป็นประเภทอะไรบ้าง แหล่งเงินทุนมาจากที่ใด
3.      พิจารณาความเหมาะสมและประโยชน์ของโครงการ ซึ่งดูได้จากกรณีต่าง ๆ ดังนี้
3.1  เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีโครงการ เพื่อดูว่าโครงการนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงใดและมีผลกระทบกับเหตุการณ์ใดบ้าง
3.2  จังหวะและระยะเวลาที่จะดำเนินการ เพื่อดูว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการนำผลผลิตของโครงการไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เพียงใด
3.3  ความสมประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดูว่าโครงการนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด
3.4  ความสอดคล้องระหว่างรายจ่ายและผลตอบแทน เพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงานกับผลประโยชน์ที่ตามมา มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันหรือไม่
4.      พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
4.1  ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ เพื่อดูว่าผลผลิตหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการลงทุนแล้วจะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
4.2  ความเป็นไปได้ทางการเงิน เพื่อดูว่าปริมาณค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการดำเนินโครงการของแต่ละกิจกรรมมาจากแหล่งใดบ้าง มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะได้มา และการได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายนั้นจะสอดคล้องกับความต้องการนำไปใช้หรือไม่
4.3  ความเป็นไปได้ในทางเทคนิค เพื่อดูว่าเทคนิคและวิธีการที่จะนำมาใช้ในโครงการมีความเหมาะสมกับลักษณะของโครงการหรือไม่ สามารถทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
4.4  ความพร้อมและความสามารถของหน่วยงาน เพื่อดูว่าจำนวนบุคลากร งบประมาณ ทรัพยากร ขีดความสามารถของหน่วยงานสามารถใช้ดำเนินโครงการได้หรือไม่ และหน่วยงานนั้นมีแผนสำหรับการได้มาซึ่งทรัพยากรสำหรับการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหรือไม่
4.5  ข้อจำกัดอื่น ๆ เป็นการดูว่าในโครงการนั้นมีข้อจำกัดอื่นใดที่จะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิบัติการหรือไม่

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 7 การวิเคราะห์โครงการ (Project Appraisal

        การวิเคราะห์โครงการ หรือ Project appraisal เป็นขั้นตอนที่จะศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เช่น ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับจากโครงการ ตลอดจนปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการดำเนินการว่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่เพียงใด ทั้งนี้เพื่อคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดเข้าไว้ในแผน
            โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์โครงการจะศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
1.      การวิเคราะห์ทางด้านอุปสงค์ เป็นการวิเคราะห์และคาดคะเนความต้องการให้ผลผลิตของโครงการที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นจากโครงการนั้น โดยทั่วไปจะวิเคราะห์กรณีต่าง ๆ ดังนี้
1.1  วิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเพื่อดูความต้องการในขณะนั้น
1.2  วิเคราะห์ความต้องการในอนาคตเพื่อดูแนวโน้มความต้องการที่จะเกิดขึ้น
1.3  วิเคราะห์กิจกรรมที่มีอยู่จะสนองความต้องการได้มากน้อยเพียงใด
2.      การวิเคราะห์ทางเทคนิค เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในโครงการนั้น โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับกรณีต่าง ๆ ดังนี้
2.1  วิเคราะห์หาแนวความคิดใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้กับโครงการ
2.2  วิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคของโครงการ
2.3  วิเคราะห์หาความเหมาะสมหรือความเป็นไปได้ของโครงการ
3.      การวิเคราะห์ทางด้านการเมือง เป็นการวิเคราะห์ถึงบทบาททางการเมืองที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการ
4.      การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ เป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจว่าโครงการนั้นให้ผลตอบแทนได้มากหรือน้อยเพียงใดเพื่อจะได้วางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณากรณีต่าง ๆ ดังนี้
4.1  ปริมาณการลงทุนและผลตอบแทน
4.2  ระยะเวลาคืนทุน
4.3  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
5.      การวิเคราะห์ทางด้านการเงิน เป็นการวิเคราะห์ถึงการลงทุนและผลตอบแทนของโครงการ ซึ่งรวมถึงการวางแผนทางด้านการเงินที่เหมาะสมกับโครงการนั้น ซึ่งแนวทางการวิเคราะห์ทางด้านการเงินจะประกอบด้วยกรณีต่าง ๆ ดังนี้
5.1  การคาดคะเนการเงินของโครงการ
5.2  การวิเคราะห์ความสามารถให้เกิดผลผลิตสูงสุด
5.3  การประเมินผลตอบแทนทางการเงิน
5.4  แหล่งที่มาของเงินทุน
5.5  ปัญหาด้านการเงินอื่น ๆ
6.      การวิเคราะห์ด้านการบริหาร เป็นการวิเคราะห์เพื่อพิจารณาว่าโครงการนั้นได้มีระบบการบริหารที่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของโครงการหรือไม่เพียงใด
7.      การวิเคราะห์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการวิเคราะห์ถึงสภาพต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มอิทธิพลในด้านต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ เหล่านั้นจะมีผลต่อการดำเนินโครงการอย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 6 วงจรโครงการของ Rondinelli

        Prof. Dr. Denis A. Rondinelli นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงด้านการบริหารได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวงจรโครงการเอาไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.      การระบุโครงการ (Project identification) คือ การชี้ปัญหา หลักการ เหตุผล ชื่อ วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องกำหนดขึ้น
2.      การศึกษาและจัดเตรียมโครงการ (Project preparation) คือ การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในโครงการ
3.      การควบคุมตรวจสอบโครงการ (Project appraisal) คือ การที่คณะผู้จัดทำโครงการและผู้เกี่ยวข้องทำการวิเคราะห์ พิจารณาทุกลักษณะของโครงการอย่างละเอียดก่อนนำไปปฏิบัติ โดยจุดที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษคือ วิธีการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาวะทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนทางการเงิน
4.      การตัดสินใจเลือกโครงการ (Project decision) คือ การตัดสินใจนำโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วไปนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติดำเนินการ
5.      การนำโครงการไปปฏิบัติ (Project implementation) คือ การจำแนกกิจกรรมโครงการออกเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน กำหนดตัวบุคคลและวิธีการทำงาน การนำโครงการไปปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ และมีการควบคุมตรวจสอบเพื่อป้องกันตความผิดพลาด
6.      การประเมินผลโครงการ (Project evaluation) คือ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดมากน้อยเพียงใดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของงาน อย่างไรก็ตาม การประเมินผลอาจทำได้ในหลาย ๆ ขั้นตอน เช่น ประเมินผลก่อนเริ่มดำเนินงาน ในระหว่างการดำเนินงาน และภายหลังจากโครงการสิ้นสุดลงก็ได้

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 5 วงจรชีวิตของโครงการ (Project Life Cycle)

ส่วนประกอบและวงจรของโครงการ (Project Life Cycle)
            โครงการใด ๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องประกอบด้วยขั้นตอนการรวบรวมความคิดเพื่อการสร้างโครงการ จนกระทั่งถึงส่วนประกอบสุดท้ายที่เป็นการควบคุมและการประเมินผล ได้มีนักวิชาการและนักปฏิบัติการหลายท่านได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวงจรโครงการไว้ ดังนี้

Gray and Larson (2000) แสดงวงจรชีวิตของโครงการแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่

1. ขั้นกำหนดโครงการ (definitions) เป็นขั้นเริ่มต้นโครงการ ระดับความพยายามในขั้นนี้เริ่มขึ้นอย่างช้า ๆ งานในขั้นนี้ประกอบด้วยการระบุขอบเขตหรือคุณสมบัติเฉพาะโครงการ กำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของโครงการ ระบุงานสำคัญ ๆ ที่ต้องทำและกำหนดผู้รับผิดชอบ และจัดกลุ่มคนร่วมงาน
2. ขั้นการวางแผนโครงการ (planning) เป็นขั้นที่ระดับความพยายามในขั้นนี้สูงขึ้น มีการจัดทำแผนโครงการ กำหนดเวลาของงานต่าง ๆ ทรัพยากรที่ต้องการ คุณภาพของงาน และงบประมาณที่ต้องการ
3. ขั้นปฏิบัติการโครงการ (execution) เป็นขั้นที่ระดับความพยายามสูงขึ้นมากในระยะต้นของขั้นนี้ เพราะมีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของโครงการ โครงการเป็นรูปร่างทั้งทางด้านกายภาพ และทางด้านจิตใจ มีมาตรการในการควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเวลา ต้นทุน และผลงานที่ระบุ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นบ้าง มีการจัดทำรายงานและตรวจสอบงานเป็นระยะ ๆ และระดับความพยายามจะลดลงในระยะปลาย ๆ ขั้น
            4. ขั้นส่งมอบโครงการ (delivery) งานในขั้นนี้ประกอบด้วยงานที่สำคัญ 2 งาน คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบผลผลิตให้ลูกค้า (customer) หรือผู้ใช้ (user) และงานที่เกี่ยวกับการยุติโครงการ

Cleland and King ได้กล่าวถึงขั้นตอนตามวงจรชีวิตของโครงการ เป็น 5 ขั้นด้วยกันดังนี้

1. ขั้นความคิดริเริ่มโครงการ (conceptual phase) เป็นการริเริ่มแนวคิดโครงการอย่าง กว้าง ๆ วิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบต่อเวลา ต้นทุนค่าใช้จ่าย และการทำงาน รวมทั้งผลกระทบต่อทรัพยากรขององค์กร วิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของโครงการที่เป็นทางเลือกเพื่อหาคำตอบเบื้องต้นว่าควรจะทำโครงการหรือไม่
2. ขั้นกำหนดโครงการ (definition phase) เป็นขั้นที่สองของวงจรชีวิตของโครงการ เป็นขั้นวิเคราะห์โครงการให้ลึกลงไปว่า โครงการนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง มากน้อยเท่าใด รวมทั้งกำหนดเวลา ต้นทุนค่าใช้จ่าย และผลงานที่ต้องการให้แน่นอนและสมจริง กำหนดปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องการเพื่อสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ เช่น นโยบายขององค์กร งบประมาณ วิธีการทำงาน เป็นต้น ระบุปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ ระบุความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของโครงการด้วย
3. ขั้นผลิต (production phase) เป็นขั้นที่ได้จัดทำแผนโครงการโดยละเอียด ระบุทรัพยากร และวิธีการบริหารทรัพยากรที่ต้องการเพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิต เช่น สินค้า คงคลัง วัตถุดิบ แรงงาน ทุน เป็นต้น เริ่มทำการผลิต ก่อสร้าง หรือติดตั้งเครื่องจักร มีการจัดทำคู่มือเป็นการปฏิบัติงาน และแบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน เช่น แบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงิน บันทึกเวลาทำงาน การเบิกจ่ายพัสดุ เป็นต้น
4. ขั้นปฏิบัติการ (operational phase) ในขั้นนี้จะเกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ เช่น มีการใช้ผลงานของโครงการ โดยผู้ใช้อาจอยู่ในองค์กรเอง หรือเป็นลูกค้าขององค์กรก็ได้ ประสานผลงานของโครงการเข้ากับองค์กรที่เป็นเจ้าของ เช่น ถ้าผลงานของโครงการคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ในขั้นนี้จะต้องมีการประสานผลิตภัณฑ์ใหม่ของโครงการเข้ากับแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดตามวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ มีการประเมินโครงการทางด้านเทคนิค ด้านเศรษฐกิจและสังคม และประเมินระบบสนับสนุนต่างๆ ว่าเพียงพอต่อการปฏิบัติจริง ๆ ตามแผนโครงการหรือไม่
            5. ขั้นปิดโครงการ (Divestment phase) ในขั้นสุดท้ายของวงจรชีวิตโครงการนี้คือ การยุติโครงการ มีการถอนทรัพยากร (เช่น คน เครื่องจักร) คืนองค์กรหรือโยกย้ายไปโครงการอื่นๆ สรุปบทเรียนที่ได้จากโครงการเพื่อการพัฒนาโครงการอื่น

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 4 ACTS Framework

ACTS Framework หรือโครงร่างที่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ปฏิบัติ
(A = Agency, C = Cost, T = Time, S = Space) เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์กิจกรรมที่อยู่ในแผนปฏิบัติงานในแต่ละโครงการ มีรูปแบบดังนี้
      กิจกรรม      (1)
ผู้ดำเนินการ (2)
สถานที่     (3)
ระยะเวลา เริ่มต้น (4)
ระยะเวลาสิ้นสุด (5)
ค่าใช้จ่าย   (6)
กิจกรรม 1





กิจกรรม 2





กิจกรรม 3





กิจกรรม 4





กิจกรรม 5






ตารางจัดทำแผนปฏิบัติโครงการแบบ ACTS Framework
            ในการจัดทำแผนปฏิบัติแบบ ACTS Framework ผู้จัดทำจะเขียนชื่อกิจกรรมย่อยโดยระบุผู้รับผิดชอบหรือผู้ดำเนินการของแต่ละกิจกรรม (Agency) สถานที่ทำกิจกรรม (Space) ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของกิจกรรม (Time) และค่าใช้จ่ายของแต่ละกิจกรรม (Cost) ซึ่งเมื่อเขียนเป็นแผนออกมาแล้วจะทำให้ทราบได้ว่าทั้งโครงการจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ และผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน ซึ่งทำให้สามารถติดตามงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดทำแผนปฏิบัติโครงการมีวิธีการจัดทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งผู้จัดทำโครงการจะต้องพยายามศึกษาและวิเคราะห์วิธีการที่เป็นว่าเหมาะสมกับความต้องการและวิธีปฏิบัติของหน่วยงานให้มากที่สุด แต่ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนรูปแบบใด ผู้จัดทำแผนปฏิบัติควรคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย
 1.      ต้องจัดทำขึ้นอย่างระมัดระวังและรอบคอบ (Awareness)
 2.      แผนที่จัดทำขึ้นควรเป็นแผนที่มีเหตุมีผล (Validity)
 3.      เป็นแผนที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ (Reliability)
 4.      สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (Utility)

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 3 การจัดทำแผนปฏิบัติโครงการ

การจัดทำแผนปฏิบัติโครงการ
เพื่อให้การปฏิบัติโครงการบังเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติโครงการตามขั้นตอนดังนี้
1.    พิจารณาหรือกำหนดปัญหา เป็นการวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อกำหนดเป็นวัตถุประสงค์สำหรับการจัดทำแผน การวิเคราะห์ปัญหาจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ คือ
1.1  สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ตลอดจนกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อโครงการทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
1.2  สภาพแวดล้อมภายในองค์การ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ภายในองค์การ เช่น โครงสร้างองค์การ การบริหาร ทรัพยากร ความสามารถของบุคลากร
2.     กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ เป็นการกำหนดจุดหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดจากการปฏิบัติโครงการ เพื่อประโยชน์ในด้านการกำหนดทิศทางของการจัดทำแผนปฏิบัติโครงการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติที่จะบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การกำหนดวัตถุประสงค์ให้ยึดหลัก “SMART
3.     กำหนดกิจกรรมที่จะใช้ปฏิบัติโครงการ เป็นการกำหนดขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมายของโครงการที่ได้กำหนดไว้ กิจกรรมที่ดีควรจะต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ และครอบคลุมถึงรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
แนวทางการกำหนดกิจกรรม
3.1  รวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติงาน
3.2  วิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้ในการกำหนดกิจกรรม
3.3  สร้างรูปแบบหรือขั้นตอนการดำเนินงานแต่ละกิจกรรม (Model)
3.4  กำหนดหลักเกณฑ์ (Criteria) ในการจัดการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม
3.5  กำหนดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายของการดำเนินงาน
3.6  ทดสอบความเป็นไปได้ของแต่ละกิจกรรม
3.7  ตั้งเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเบื้องต้นที่จะใช้ปฏิบัติกิจกรรม (ถ้ามี)
3.8  กำหนดกิจกรรมหรือทางเลือกที่จะใช้ปฏิบัติของโครงการ
4.     เลือกและลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่จะใช้ปฏิบัติ เป็นการศึกษาเพื่อดูว่าจำนวนกิจกรรมที่มีอยู่ควรจะกำหนดความสำคัญก่อนหลัง หรือลำดับของกิจกรรมที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถบรรลุเป้าหมายของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการพิจารณาเลือกและลำดับความสำคัญของกิจกรรม
4.1  จะมีผลสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการมาหรือน้อยเพียงใด
4.2  จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการได้มากหรือน้อยเพียงใด
4.3  จะมีผลต่อความก้าวหน้าหรือขยายกิจการของโครงการได้มากน้อยเพียงใด
4.4  เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของโครงการมากหรือน้อยเพียงใด
4.5  ผลงานที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องในกิจกรรมอื่นได้มากหรือน้อยเพียงใด
5.     กำหนดแผนปฏิบัติ เป็นการกำหนดลำดับของกิจกรรมที่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของแต่ละกิจกรรมที่จะใช้ในการดำเนินโครงการอย่างครบวงจร การจัดทำแผนปฏิบัติโครงการนับเป็นส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะจะเป็นการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการพร้อมทั้งขั้นตอนสำหรับปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ได้โดยง่ายและบรรลุวัตถุประสงค์