วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 2 ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ

ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ
ในอดีตนั้น ผู้บริหารมอง “คน” ว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต (Man Machine Material Money) เหมือนกับเครื่องจักร จึงได้มีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้คนทำงานได้มากขึ้นโดยการให้สิ่งจูงใจหรือผลตอบแทนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งก็พบว่าไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ต่อมาจึงได้มีผู้สนใจศึกษาในเรื่องมนุษยสัมพันธ์โดยมีแนวคิดที่ว่า “มนุษย์มีความแตกต่างกัน” จึงเน้นไปในเรื่องการเอาอกเอาใจคนงาน ซึ่งต่อมาก็พบว่าการให้ความสำคัญกับมนุษยสัมพันธ์ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีอีกเช่นกัน จึงมีการใช้วิธีการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ซึ่งก็เป็นที่มาของการศึกษาพฤติกรรมองค์การนั่นเอง การศึกษาดังกล่าว มีอิทธิพลต่อแนวคิดการบริหารในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะการบริหารคือ”กระบวนการทำงานให้สำเร็จโดยใช้บุคคลอื่น” ดังนั้นพฤติกรรมของบุคคลในองค์การจึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์การ การบริหารทรัพยากรบุคคล ฯ อย่างที่นักศึกษาบริหารธุรกิจต้องเรียนกันในเรื่องหลักการบริหารไม่ว่าจะเป็น “POSDCORB” หรืออื่น ๆ การควบคุมดูแล “คน” ซึ่งมีความต้องการ มีความรู้สึก มีอารมณ์ แล้วนั้น สำหรับผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อย่างผมบอกได้เลยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก แต่การบริหารจัดการให้ “คน” สามารถทำงานให้กับองค์การได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ สามารถแข่งขันและทำให้องค์การอยู่รอด เติบโตไปได้นั้น ผู้บริหารจำเป็นจะต้องศึกษาในเรื่องพฤติกรรมองค์การ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในองค์การได้
จากที่ได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าว จึงขอสรุปความสำคัญที่มีต่อผู้บริหารในการศึกษาพฤติกรรมองค์การ ดังนี้

1. ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้  
การศึกษาพฤติกรรมองค์การจะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจพฤติกรรมและความรู้สึกของตนเอง เช่น ความต้องการ แรงจูงใจ ทำให้ทราบจุดอ่อน จุดแข็งของพฤติกรรมของตนเอง ทำให้สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์การบริหารงานอย่างมาก

2.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาได้
          ผู้บริหารจำเป็นต้องรับผิดชอบในการวางแผน การจัดองค์การ และการควบคุมให้มีการทำงานที่นำไปสู่ผลสำเร็จ การศึกษาพฤติกรรมองค์การจะทำให้ผู้บริหารเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชา เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงทำให้ผู้บริหารเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนำมาสู่การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมในองค์การได้อย่างเหมาะสม เช่น ใช้การจูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างทุ่มเทมากขึ้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในองค์การ การสนับสนุนให้พนักงานทำงานได้บรรลุตามเป้าหมาย เป็นต้น

3.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน
ผู้บริหารจำเป็นต้องทำงานร่วมกับบุคคลต่าง ๆ ในองค์การ การเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล กระบวนการกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม วัฒนธรรมภายในองค์การ อำนาจและการเมืองภายในองค์การ จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

4.  ทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถทำนายพฤติกรรมของผู้บริหาร ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายขององค์การ
จากความจริงที่ว่าผู้บริหารระดับสูงจะมีอิทธิพลต่อผู้บริหารในระดับรอง ๆ ลงมา การศึกษาพฤติกรรมองค์การจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารมีความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริหารที่อยู่เหนือขึ้นไปและบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายขององค์การ และสามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อนโยบายขององค์การ ซึ่งนำมาสู่การวางแผน การจัดองค์การ  และการควบคุมให้องค์การมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายขององค์การได้


ตอนต่อไปมาดูกันว่า พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น