วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 1 พฤติกรรมองค์การคืออะไร

 
พฤติกรรมองค์การคืออะไร
ขึ้นหัวเอาไว้อย่างนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ผมจะพาไปทำความรู้จักกับ “พฤติกรรมองค์การ” กันครับ
คงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าทุกวันนี้คนเราต้องอยู่กับ “องค์การ” โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานราชการ งานบริษัท งานสำนักงาน งานโรงงานอุตสาหกรรม ฯ การที่คนหลาย ๆ คนมาอยู่ร่วมกันเพื่อที่จะทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ย่อมจะต้องแสดง “พฤติกรรม” ต่าง ๆ ออกมาทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้นในการศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมองค์การ” จริง ๆ แล้วเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในองค์การนั้น ๆ (Human Behavior in Organization) นั่นเอง เพราะองค์การประกอบไปด้วยคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน มีการพูดคุย โต้เถียง ขัดแย้งกันไปตามประสาคนหมู่มากที่มีพื้นฐานที่มาที่ไปต่างกัน นิสัยใจคอต่างกัน ความรัก ความชอบต่างกัน ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยมต่างกัน จึงมีการศึกษากันว่าทำอย่างไรมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันนี้ จะสามารถอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุด

มาดูกันว่าการศึกษา “พฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ” นั้น เราจะศึกษากันอย่างไร
ตำราส่วนใหญ่จำแนกการศึกษาถึงพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. พฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior)
2. พฤติกรรมกลุ่ม (Group Behavior)
3. พฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior)
แต่ก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงพฤติกรรมองค์การในแต่ละระดับ เรามาปูพื้นกันก่อนกับความหมายของคำว่า “องค์การ”
องค์การหมายความว่าอย่างไร
เมื่อพูดถึง “องค์การ” เรามักนึกถึงโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยคนหลาย ๆ คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกไปในแต่ละคน มีผู้บังคับบัญชา มีผู้ใต้บังคับบัญชา มีระเบียบกฎเกณฑ์ มีขั้นตอนในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้การทำกิจกรรมนั้น ๆ บรรลุเป้าหมาย
มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “องค์การ” เอาไว้ในหลายแง่มุม ซึ่งก็พบว่ามีลักษณะร่วมกันบางประการ ได้แก่
1. ระบบ หากใครที่ศึกษาความหมายของ “ระบบ” จะทราบว่า ระบบประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Inputs), กระบวนการ (Process), ผลลัพธ์ (Outputs) และข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) องค์การก็เหมือนกัน ระบบองค์การจะมีลักษณะเป็นระบบที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ต่อกัน เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
2. การรวมตัวของบุคคล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ จะมีโครงสร้างที่ชัดเจนแน่นอนหรือจะไม่มีก็ได้
3. กิจกรรม บุคคลจะรวมตัวกันก็เพื่อที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งอาจจะรวมตัวกันจริง ๆ หรือรวมตัวกันแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ก็ได้
4. วัตถุประสงค์ บุคคลจะมารวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกัน และพยายามทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
 
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า “องค์การ” หมายถึงระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันนั่นเอง
ส่วน “พฤติกรรมองค์การ” นั้นก็ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายเอาไว้ ซึ่งผมจะขอสรุปความหมายให้ท่านผู้อ่านได้ทราบพอเป็นสังเขป ดังนี้
“เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งในระดับพฤติกรรมบุคคล พฤติกรรมกลุ่ม และพฤติกรรมองค์การอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมขององค์การในภาพรวม และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนสร้างความพึงพอใจให้บุคลากรในองค์การนั้น ๆ”
ตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่า "ทำไมจึงต้องศึกษาพฤติกรรมองค์การ" ครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ