วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 3 พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร

พฤติกรรมองค์การมีแนวทางการศึกษาอย่างไร
วิชาพฤติกรรมองค์การเป็นวิชาที่มีลักษณะผสมผสาน และประยุกต์ความรู้ในศาสตร์หลาย ๆ สาขาเข้าด้วยกัน จึงเป็นวิชาที่มีคุณค่าและมีความสำคัญเพราะสามารถนำทฤษฎีและแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับมนุษย์มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์การและมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถพิจารณาปัญหาจากแง่มุมที่แตกต่างกัน มีมุมมองที่กว้างขวางยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดความเข้าใจเข้าใจใน “คน” มากยิ่งขึ้น  สามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหา และวางแบบแผนพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ได้ถูกต้องมากขึ้น
ในการศึกษาวิชานี้ให้มีความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งนั้น ควรจะต้องศึกษาวิชาอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบ ซึ่งมักจะเป็นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในบางแขนง ซึ่งวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมองค์การจะได้แก่
1. วิชาการจัดการ (Management) เป็นการศึกษาหลักและวิธีปฏิบัติในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ ซึ่งในการทำงานจะต้องเกี่ยวข้องความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของบุคคลในองค์การที่เราทำงานอยู่ ทำให้การจัดการและพฤติกรรมองค์การไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
2. วิชาจิตวิทยา (Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจและการแสดงออกของบุคคล โดยนักจิตวิทยาจะเฝ้าสังเกตศึกษาพฤติกรรมของบุคคลและกำหนดขึ้นเป็นแนวทางการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ การรับรู้ การจูงใจ บุคลิกภาพ และจิตวิทยาองค์การ (Organization Psychology)
3. วิชาสังคมวิทยา (Sociology) วิชานี้จะมุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมนุษย์เมื่อยู่ในระบบสังคมว่า แต่ละบุคคลมีบทบาทของตนอย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาในด้านการตัดสินใจ พฤติกรรมกลุ่ม ทฤษฎีองค์การ วัฒนธรรมองค์การ
4. วิชามานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นวิชาที่ศึกษาถึงสังคมในแง่เกี่ยวกับมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจเรื่อง ค่านิยม เจตนคติ ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมองค์การ
5. วิชารัฐศาสตร์ (Political Science) จะศึกษาถึงพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมือง เป็นการศึกษาถึงอำนาจ การเมือง การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับการปกครอง การจัดการความขัดแย้ง
6. วิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) เป็นการศึกษาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น
การศึกษาพฤติกรรมองค์การนั้นสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น
          1. กรณีศึกษา (Case Study) เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่เป็นจริง เช่น บุคคล กลุ่ม หรือองค์การที่มีอยู่จริง เพื่อใช้เป็นตัวอย่าง ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษาข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
          2. การสำรวจ (Survey Research) เป็นการศึกษาโดยใช้กลุ่มตัวอย่าง (Sample) ตอบคำถามในแบบสอบถาม (Questionnaire) แล้วทำการวิเคราะห์และสรุปผล โดยคาดว่าคำตอบของกลุ่มตัวอย่างจะสะท้อนภาพรวมของกลุ่มประชากร
          3. การทดลองในห้องแล็บ (Laboratory Research) เป็นการทดลองในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ เพื่อศึกษาความเป็นไปของระบบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ
          4. การออกสนาม (Field Research) เป็นการศึกษาพฤติกรรมโดยการเก็บข้อมูลจากการสังเกต เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์การ โดยจะศึกษาปัญหาในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง
          วิชาพฤติกรรมองค์การจะประยุกต์วิชาพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) กับสาขาวิชาอื่น ๆที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เพื่อกำหนด พัฒนา และประยุกต์หลักการ รวมถึงวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันในองค์การท่ามกลางความแตกต่างกันของบุคคลให้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเจ้าของกิจการเอง ผู้บริหาร ตลอดจนตัวพนักงานครับ

          ตอนต่อไปเราจะมารู้จักประเภทขององค์การและองค์ประกอบขององค์การกันครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ