วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 6/2 พฤติกรรมส่วนบุคคล

มาต่อกันที่ปัจจัยอย่างที่ 2 และ 3 ครับ
2.  ความสามารถ (Ability)
ความสามารถ (Ability) Dr. Stephen P. Robbins ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สมรรถภาพของบุคคลซึ่งสามารถที่จะทำภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานได้เป็นผลสำเร็จ” ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมามีคุณลักษณะและความสามารถที่ไม่เท่ากัน องค์การจึงควรเข้าใจธรรมชาติและหาวิธีดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวบุคคลให้แสดงออกมาในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ความสามารถของบุคคลอาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ
1.1  ความสามารถทางสติปัญญา (Intellectual abilities) เป็นความสามารถในการใช้สติปัญญาและความคิดของบุคคล ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น ซึ่งความสามารถทางสติปัญญา สามารถทดสอบหรือวัดได้จากแบบทดสอบ IQ (Intellectual Quotient Test) ที่ประกอบด้วยความสามารถ 7 ด้าน
1.2  ความสามารถทางกายภาพ (Physical abilities) เป็นความสามารถในการทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ แต่จะต้องใช้ความอดทน ความแข็งแรงของร่างกายและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เช่น แขน ขา เพื่อความสำเร็จในการทำงาน ซึ่งจากงานวิจัยถึงคุณสมบัติที่จำเป็นของบุคคลสำหรับงานที่ต้องใช้แรงงานต่าง ๆ (Physical tasks) ประกอบด้วยความสามารถ 9 อย่าง
3.  บุคลิกภาพ (Personality)
Dr. Gordon Allport ให้ความหมายของคำว่าบุคลิกภาพไว้ว่า คือรูปแบบที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะภายในของบุคคลภายใต้ระบบเชิงจิตวิทยา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของตัวเอง หรือแบบแผนพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นลักษณะเอกลักษณ์ที่แสดงออกทั้งด้านความคิด ความรู้สึก ความสนใจ สติปัญญา รวมถึงลักษณะทางด้านสรีระ เน้นบุคลิกภาพทั้งภายนอกและภายใน ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างของบุคคลได้
บุคลิกภาพของบุคคลเป็นผลจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคล เช่น บุคลิกภาพส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยสภาพทางร่างกายและจิตใจที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ อีกส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมที่ได้รับตั้งแต่เกิด การเลี้ยงดู การศึกษาอบรม และประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต นอกจากนี้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจทำให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพเดิมที่เป็นอยู่
ปัจจัยที่กำหนดบุคลิกภาพ
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของบุคคลในปัจจุบันมี 3 ปัจจัย คือ
1.  พันธุกรรม (Heredity) หมายถึงลักษณะต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดถ่ายทอดจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลานตั้งแต่เกิด ได้แก่ ลักษณะทางด้านร่างกาย เช่น รูปร่างหน้าตา ลักษณะร่างกาย นิสัยใจคอ สีผิว สีผม เป็นต้น และลักษณะทางด้านชีววิทยา เช่น ระดับสติปัญญา โรคบางชนิด
2.  สภาพแวดล้อม (Environment) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดบุคลิกภาพของบุคคล เพราะสภาพแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ เพื่อน กลุ่มสังคม รวมถึงอิทธิพลอื่น ๆ ที่บุคคลเติบโตขึ้นมาล้วนส่งผลต่อบุคลิกภาพทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรม (Culture) ถือเป็นรากฐานของบรรทัดฐาน (Norms) ทัศนคติ (Attitudes) และค่านิยม (Values) ของบุคคลที่ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมอย่างเข้มข้นในวัฒนธรรมหนึ่งย่อมมีอิทธิพลต่อบุคคลที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้น
3.  สถานการณ์ (Situation) บุคลิกภาพของบุคคลอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ แต่ความคิดที่ว่าปัจจัยเชิงสถานการณ์เป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของบุคคลก็เป็นเพียงการคิดเท่านั้น ยังไม่ได้มีการพิสูจน์หรือศึกษาอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนว่า ปัจจัยในรูปแบบใดบ้างที่จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล แต่เราก็เข้าใจว่าอาจมีบางสถานการณ์ที่ค่อนข้างมีเหตุผลสนับสนุนแนวคิดนี้

ตอนต่อไปเราจะไปศึกษาเรื่องบุคลิกภาพที่มีผลต่อพฤติกรรมองค์การกันครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ