วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 7 บุคลิกภาพที่มีผลต่อพฤติกรมองค์การ

          ตำราหลายเล่มได้กล่าวถึงคุณสมบัติของบุคลิกภาพที่สำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมบุคคลในองค์การเอาไว้ 6 ประการด้วยกัน ที่สามารถอธิบายและพยากรณ์ถึงพฤติกรรมของพนักงานได้ดังนี้
          1. สภาพการควบคุมตนเองของบุคคล (Locus of Control) หมายถึง ระดับที่บุคคลเชื่อว่าเขาสามารถที่จะควบคุมชะตาชีวิตของตนเองได้มากหรือน้อย ซึ่งประกอบด้วย
-    สภาพการควบคุมจากภายใน หมายถึง บุคคลที่เชื่อว่าเขาสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาได้ หรือสามารถควบคุมจุดหมายปลายทางของชีวิตได้ด้วยตนเอง
-    สภาพการควบคุมจากภายนอก หมายถึง บุคคลที่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นเพราะอิทธิพลจากแรงกดดันจากภายนอกที่กำหนดไว้แล้ว เช่น โชคชะตา โอกาส
จากผลการศึกษาพบว่า พนักงานที่มีสภาพการควบคุมจากภายใน ส่วนใหญ่จะทำงานของตัวเองได้ดี เพราะเป็นคนกระตือรือร้นที่จะแสวงหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ มีแรงจูงใจใฝ่สำเร็จ และมีความพยายามที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมของตัวเอง ส่วนพนักงานที่มีสภาพการควบคุมจากภายนอก จะเป็นคนที่ยอมคนอื่นเสมอ และชอบที่จะรอรับคำสั่ง
2.  Machiavellianism เรียกสั้น ๆ ว่า Mach เป็นแนวคิดของ Niccolo Machiavelli ซึ่งได้เขียนหนังสือเอาไว้เกี่ยวกับแรงจูงใจที่บุคคลมี เพื่อให้ได้รับอำนาจและการใช้อำนาจในการควบคุมพฤติกรรมบุคคลอื่น เป็นมาตรการที่ใช้วัดบุคคลในเรื่องเหตุผล การควบคุมอารมณ์ และความเชื่อ โดยได้แบ่งคุณลักษณะบุคลิกภาพออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับสูง (High – Mach) และระดับต่ำ (Low – Mach) ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ High – Mach คือคนที่ชอบปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ และสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อื่นได้ดีกว่าบุคลิกภาพแบบ Low – Mach
3.  การยกย่องส่วนตัว (Self – esteem) คือ บุคคลจะมีความแตกต่างกันในระดับความชอบ ความพอใจ หรือความไม่พอใจในตัวเอง จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า บุคลที่มีความยกย่องส่วนตัวสูง (High self – esteem) จะเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ กล้าเสี่ยงในการหางานและเลือกงานมากกว่าผู้ที่มีความยกย่องส่วนตัวต่ำ (Low self – esteem) ส่วนผู้ที่มีความยกย่องส่วนตัวต่ำจะมีความอ่อนไหวต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอก ยินยอมปฏิบัติตามความเชื่อของบุคคลที่ตนเคารพ พยายามทำในสิ่งที่ถูกใจผู้อื่นอยู่เสมอ
4.  การตรวจสอบตัวเอง (Self – monitoring) หมายถึงคุณลักษณะบุคลิกภาพเพื่อวัดระดับความสามารถในการปรับพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและปัจจัยเชิงสถานการณ์ โดยบุคคลที่มีกลไกการตรวจสอบตัวเองสูง (High in self – monitoring) จะสามารถปรับพฤติกรรมส่วนตัวให้เข้ากับปัจจัยสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างดี มีการวางตัวที่เหมาะสมทั้งทางสังคมและชีวิตส่วนตัว ซึ่งตรงข้ามกับบุคคลที่มีการตรวจสอบตัวเองต่ำ (Low self – monitoring) จะขาดคุณสมบัตินี้
5. ชอบความเสี่ยง (Propensity of risk taking) โดยทั่วไปผู้บริหารจะยอมรับหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงย่อมเห็นได้จากการตัดสินใจและจากข้อมูลข่าวสารที่ต้องการก่อนการตัดสินใจในทางเลือกนั้น ๆ ผู้บริหารที่มีแนวโน้มของความเสี่ยงสูง (High risk – taking) หรือประเภทกล้าได้กล้าเสียมักตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยข้อมูลที่จำกัดมากว่าผู้บริหารที่มีแนวโน้มของความเสี่ยงต่ำ (Low risk – taking) หรือพวกที่มีความละเอียดรอบคอบ แต่จากผลการวิจัยพบว่าความถูกต้องของการตัดสินใจในทั้งสองกลุ่มมีค่าเท่ากัน ซึ่งหมายความว่าลักษณะความแตกต่างของบุคลิกภาพทั้งสองแบบจะมีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่แตกต่างกัน เพราะในงานบางประเภท เช่น นักลงทุน อาจต้องการบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแนวโน้มของความเสี่ยงสูง ตัดสินใจรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ส่วนงานที่ต้องการความละเอียด เช่น งานด้านบัญชี ซึ่งต้องการความถูกต้องจะเหมาะสมกับผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบแนวโน้มความเสี่ยงต่ำ
6. บุคลิกภาพแบบ A/B (Type A/B personality) บุคลิกภาพแบบ A เป็นลักษณะบุคคลที่มีความสามารถในการต่อสู้กับอุปสรรคได้ตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น หรือพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกถึงความเร่งด่วนและเป็นต่อเหนือคู่แข่งขัน เพื่อเอาชนะปัญหาและอุปสรรค
บุคลิกภาพแบบ A มีลักษณะดังนี้
1. มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว
2. ไม่อดทนกับเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น
3. พยายามทำสิ่งต่าง ๆ มากกว่าสองสิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
4. ไม่ปล่อยเวลาว่างให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
5. วัดความสำเร็จในรูป “จำนวน” ในทุกสิ่ง
บุคลิกภาพแบบ B คือบุคลิกภาพที่ตรงข้ามกับบุคลิกภาพแบบ A จะเป็นบุคลิกของคนที่เฉื่อยชา ไม่สนใจในเวลาที่เสียไป ขาดจิตวิญญาณของการแข่งขัน
บุคลิกภาพแบบ B มีลักษณะดังนี้
1. ไม่รู้สึกเร่งด่วนเกี่ยวกับเวลา
2. รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงความสำเร็จเว้นแต่สถานการณ์บังคับ
3. แสดงอารมณ์ขันและมีลักษณะที่ผ่อนคลายมากกว่าที่จะแสดงความ “เหนือ” กว่าผู้อื่น
4. สามารถที่จะผ่อนคลายโดยไม่เกิดความรู้สึกผิด
นักบริหารในรูปแบบ B มักจะแสดงออกถึงความสามารถในการแข่งขันของตนเองด้วยการทำงานเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ขาดความคิดสร้างสรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น