วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 9/1 ค่านิยม ทัศนคติ มีผลต่อพฤติกรรมองค์การอย่างไร

เรามาเริ่มต้นกันที่ค่านิยมกันก่อนครับ
ค่านิยม (Values) หมายถึงความเชื่อมั่นพื้นฐานซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมของบุคคลหรือสังคม หรือความรู้สึกชื่นชม นิยม หรือการเห็นคุณค่าในตัวบุคคล สิ่งของ ตลอดจนความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งค่านิยมก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ทางด้านดี หมายถึงสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ต้องการ ส่วนทางด้านที่ไม่ดี หมายถึงสิ่งที่ไม่ดีและไม่เป็นที่ต้องการ
ค่านิยมมีความสำคัญสำหรับการศึกษาพฤติกรรมองค์การก็เพราะว่า จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และการจูงใจ และยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคล รวมไปถึงมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลอีกด้วย
Milton Rokeach (1973) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้กล่าถึงค่านิยมว่า หมายถึงความเชื่อที่เป็นแนวทางการแสดงออก (Action) และการใช้วิจารณญาณ (Judgment) ในสถานการณ์ที่หลากหลายของบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การมีระบบค่านิยมที่ต่างกันก็จะมีการแสดงออกที่ต่างกันด้วย โดยค่านิยมจะมีอิทธิพลต่อทัศนคติ การรับรู้ ความต้องการ และการจูงใจ
Rokeach ได้จัดกลุ่มค่านิยมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.   ค่านิยมขั้นปลาย (Terminal Values) เป็นค่านิยมที่แสดงความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับเป้าหมายสุดท้าย (End) ที่เขาต้องการ
2.  ค่านิยมที่เป็นเครื่องมือ (Instrumental Values) เป็นค่านิยมที่สะท้อนความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับแนวทางที่เขาจะบรรลุเป้าหมายสุดท้าย
ส่วน Gordon Allport และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบค่านิยมและสังคม โดยได้จำแนกค่านิยมของคนออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1.   ค่านิยมตามแนวทฤษฎี (Theoretical) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการหาความจริง (Truth) ที่สามารถพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ตามหลักเหตุผล และการคิดอย่างเป็นระบบ
2.  ค่านิยมตามแนวเศรษฐกิจ (Economic) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานและผลประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งมักจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการสร้างความมั่นคง
3.  ค่านิยมตามแนวความงาม (Aesthetic) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ ความงาม รูปแบบ และการแสดงออกที่สอดคล้องกับสถานการณ์
4.  ค่านิยมตามแนวสังคม (Social) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อความผูกพัน มนุษยสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกันของส่วนรวม
5.  ค่านิยมตามแนวการเมือง (Political) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อการได้มา การธำรงรักษา และการใช้อำนาจเหนือบุคคลอื่น ยกย่องความมีอิทธิพลและอำนาจ ไม่ว่าจะได้มาโดยชอบธรรมหรือก็ตาม
6.   ค่านิยมตามแนวศาสนา (Religious) หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ และศรัทธาของบุคคล ตลอดจนการศึกษาและประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจและเป็นเอกภาพกับระบบธรรมชาติ

สำหรับตอนนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปค่อยมาว่ากันถึงเรื่องทัศนคติ

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ