วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 9/2 ทัศนคติเกี่ยวข้องกับองค์การอย่างไร

ทัศนคติ (Attitudes) เรามักจะพูดกันติดปากกับคำว่าทัศนคติ เช่น มีทัศนคติที่ดี หรือไม่ดีต่อสิ่งใด แล้วทัศนคติมันคืออะไร
ทัศนคติ (Attitudes) หมายถึง ความโน้มเอียงในทางบวกหรือลบ ที่บุคคลจะตอบสนองต่อเป้าหมายบุคคลหรือเหตุการณ์ ทัศนคติจะสะท้อนความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและอยู่รอบตัวเขา เช่น ตนเอง ครอบครัว งาน เพื่อนร่วมงาน และสังคม เป็นต้น โดยที่บุคคลอาจจะแสดงออกด้วยความตั้งใจหรือความเคยชิน ทัศนคติจึงมีลักษณะเป็นระดับความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ และจะเห็นได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งเป็นระดับทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ
ทัศนคติประกอบด้วยอะไรบ้าง
ทัศนคติ (Components of attitudes) ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1.   ความเข้าใจ (Cognitive component) คือส่วนที่เป็นความรู้ ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดจากการประมวลข้อมูลและเหตุผลประกอบการใช้ภูมิปัญหาและวิจารณญาณ
2.   ความรู้สึก (Affective component) คือส่วนของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมใด ๆ ก็ได้
3.   พฤติกรรม (Behavioral) คือส่วนของความตั้งใจที่จะประพฤติต่อคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นทัศนคติที่แสดงออกโดยการกระทำ
ทัศนคติของบุคคลจะมีบทบาทสำคัญ และเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในองค์การ เช่น การมีส่วนร่วมกับองค์การ (Organization Commitment) การขาดงาน (Absenteeism) การเข้าออกงาน (Turnover) ตลอดจนปริมาณและคุณภาพของงาน

ทัศนคติในการทำงาน
ทัศนคติของสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันขององค์การ โดยทัศนคติที่มีต่องานและต่อองค์การ จะส่งผลต่อความกระตือรือร้น ทุ่มเท และคุณภาพในการทำงานของบุคคล เราจะเห็นว่าบุคคลมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานถ้าเขามีทัศนคติที่ดีต่องาน เช่น งานไม่น่าเบื่อ งานน่าสนใจ มีความท้าทาย ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลนั้นเห็นว่างานมีความน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซาก ไม่มีคุณค่า ไม่น่าภาคภูมิใจ เขาก็จะเกิดความเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น นอกจากนี้ ทัศนคติของบุคคลต่อเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติงาน ดังนั้นทัศนคติในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น เกิดความเครียด ความขัดแย้ง เป็นต้น
ประเด็นสำคัญในการศึกษาทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน มี  3 ประเด็นคือ
1.   ความพึงพอใจในงาน (Job Satisfaction) หมายถึงทัศนคติของคนใดคนหนึ่งที่มีต่องานของเขา โดยพนักงานที่มีความพอใจในงานสูงก็จะมีทัศนคติในทางบวกต่องาน ตรงข้ามกับพนักงานที่ขาดความพอใจในงานก็จะมีทัศนคติในทางลบต่องานที่ทำ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจในงานที่ทำจะมีทั้งปัจจัยทางกายภาพและทางจิตวิทยา เช่น ค่าตอบแทน สวัสดิการ บรรยากาศในการทำงาน ความมั่นคง ความปลอดภัย เป็นต้น
2.   การมีส่วนร่วมในงาน (Job Involvement) หมายถึงทัศนคติของบุคคลที่มีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จในงาน เป็นการรับรู้ในเชิงจิตวิทยาว่าตนเองมีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างไรต่อความสำเร็จในงานที่มีส่วนร่วมทำ ซึ่งพนักงานที่มีส่วนร่วมในการทำงานสูง จะมีความระมัดระวังเกี่ยวกับงานที่ทำสูง การขาดงาน การลาออกจากงานมีน้อย และจะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่
3.   การผูกพันต่อองค์การ (Organization Commitment) หรือความจงรักภักดีต่อองค์การ หมายถึงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานให้กับหน่วยงานหรือองค์การที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ บุคคลที่มีความรัก ซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในองค์การ จะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อให้องค์การเจริญก้าวหน้า บุคคลใดที่มีความรู้สึกผูกพันกับองค์การสูง คนเหล่านั้นจะมีความรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ
ตอนต่อไปเราจะมาต่อกันที่เรื่อง “ความพึงพอใจ” ครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ