วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 4/2 ประเภทและองค์ประกอบขององค์การ

          3.  บุคคล  (People) ในแต่ละองค์การย่อมประกอบด้วยกลุ่มบุคคลมาทำงานร่วมกัน  ซึ่งบุคคลและองค์การต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือ บุคคลจะถูกองค์การคาดหวังเกี่ยวกับความพยายาม ทักษะ ความรู้ความสามารถ  ความซื่อสัตย์ต่อองค์การ การทุ่มเทให้กับองค์การ ในขณะเดียวกันองค์การก็ถูกคาดหวังจากบุคคลว่า จะได้รับการตอบแทนจากองค์การในเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความมั่นคง สถานภาพ ความก้าวหน้าในงาน เป็นต้น

4.  สภาพแวดล้อมขององค์การ (Organization Environment) หมายถึง แรงผลักดันต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อองค์การ  ซึ่งก็คือสภาพแวดล้อมโดยทั่ว ๆ ไป  สภาพแวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อการดำเนินงานขององค์การ  และสภาพแวดล้อมภายในองค์การเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
4.1 สภาพแวดล้อมทั่วไป  (General  Environment)  ได้แก่  แรงผลักดันภายนอกองค์การที่มีอิทธิพลแบบทั่วไปซึ่งได้แก่ 
1.   Political / Legal Environment คือเรื่อง การเมือง กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อองค์การ เช่น เสถียรภาพของรัฐบาล การส่งเสริมการค้า การส่งออก ปกป้องการนำเข้าของคู่ค้าเกี่ยวกับความปลอดภัยในด้านอาหาร การปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร การรักษาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านอาหารที่ตัดต่อทางพันธุกรรม การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด เป็นต้น
2.   Economic Environment คือสภาพเศรษฐกิจ ในขณะนั้นๆ ได้แก่ GDP ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนตัว เพราะจะกระทบการส่งออก สภาพการว่างงาน ต้นทุนพลังงาน เช่น ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่ง ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
3.   Social Environment คือสภาพสังคมและวัฒนธรรม เช่น อัตราการเกิด อัตราการเติบโตของประชากร การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต
4.   Technology Environment คือเทคโนโลยี มีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด เช่น การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เกิดนวัตกรรมใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

4.2 สภาพแวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อการดำเนินงานขององค์การ (Task Environment) เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การที่มีผลกระทบโดยตรงต่อองค์การและการดำเนินงานขององค์การในการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งอาจใช้หลัก 5 Forces มาพิจารณา ได้แก่
1.  คู่แข่งรายเดิมที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Competitive Rivalry) ดูจำนวนคู่แข่งถ้ามีมาก การแข่งขันจะรุนแรง
2.  ภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่ (Threat of New Entrant) ถ้าคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีเงินทุนสูง จะเป็นภัยคุกคามต่อเรา
3.  ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitute Products or Service) ที่อาจจะเข้ามาทดแทนสินค้าเรา ทำให้ศักยภาพการทำกำไรในอุตสาหกรรมลดลง
4.  อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining Power of Buyers) ผู้ซื้อ ซื้อสินค้าในปริมาณมาก สามารถกดราคาสินค้าให้ต่ำลงได้ หรือเรียกร้องให้ผู้ผลิตเพิ่มคุณภาพ เพิ่มบริการ แต่ให้คงราคาเดิม ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองสูงจะทำให้กำไรของผู้ขายลดลง
5.  อำนาจการต่อรองผู้ขายวัตถุดิบ (Bargaining Power of Suppliers) ถ้าผู้ขายมีรายเดียวอำนาจการต่อรองจะสูงก็จะเป็นภัยคุกคาม เพราะสามารถตั้งราคาขายได้ตามต้องการ หรือลดคุณภาพ ลดปริมาณลง
4.3 สภาพแวดล้อมภายในองค์การ (Internal Environment) เป็นแรงผลักดันภายในองค์การที่มีอิทธิพลต่อการจัดการและดำเนินงานขององค์การอันได้แก่
1.  Structure การจัดโครงสร้างขององค์กรเป็นอย่างไร เช่น ต้องมีโครงสร้างที่สั้น เพื่อประโยชน์ในการสั่งการ และสื่อสารได้รวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับขึ้น
2.  Culture คือสิ่งที่สั่งสมอันเกิดจากความเชื่อ ค่านิยมของสมาชิกในองค์การ ทำให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับร่วมกัน ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลกรทุกระดับจึงมีผลอย่างมากต่อความสามารถของบริษัทที่จะเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์ (Strategic Direction) ให้ไปในแนวทางที่ต้องการ
3.  Resource มีการจัดสรรทรัพยากรขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งสินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ และไม่มีตัวตน เช่น ความรู้ ทักษะ ความสามารถ เป็นต้น

ตอนต่อไปเราจะมารู้จักกับแบบจำลองในการศึกษาพฤติกรรมองค์การกันครับ
 

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ