วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 10 ความพึงพอใจในงาน

ความพึงพอใจในงาน (Job Satisfaction) หมายถึงทัศนคติเกี่ยวกับงานของพนักงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมในงานของเขา เช่น เรื่องค่าตอบแทน โอกาสในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ความก้าวหน้าในงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ความพึงพอใจในงานยังเกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมของงาน ได้แก่ รูปแบบการบริหาร นโยบาย ขั้นตอนการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ


การวัดความพึงพอใจในงาน
ในการวัดความพึงพอใจในงานนั้น นิยมใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจ โดยแบบสอบถามจะมีตัวเลือกเป็นมาตราส่วนประเมินค่าที่ผู้ตอบให้ตามลำดับค่าน้ำหนักของแต่ละตัวเลือก ซึ่งแบบสอบถามที่นิยมใช้กันมากได้แก่
1.   ดัชนีบ่งชี้งาน (Job Descriptive Index; JDI) เป็นเครื่องมือที่ใช้แพร่หลายที่สุด ประกอบด้วยคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน เช่น ด้านเกี่ยวกับลักษณะของงาน ด้านเงินเดือนค่าตอบแทน ด้านโอกาสก้าวหน้า ด้านการสอนงาน ด้านเพื่อนร่วมงาน โดยให้ผู้ตอบตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ คำตอบจะบอกให้ทราบทิศทางของความพึงพอใจว่ามีมากน้อยแค่ไหน
2.   แบบสอบถามความพอใจของมินเนโซต้า (Minnesota Satisfaction Questionnaire; MSQ) วิธีนี้มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาแบบสอบถามนี้ เป็นวิธีที่ให้ผู้ตอบระบุระดับของความพอใจหรือไม่พอใจในแต่ละด้านของงาน เพื่อใช้วัดความคิดเห็นและความพอใจที่มีต่องาน เช่น ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือด้านโอกาสก้าวหน้า เป็นต้น
3.   แบบสอบถามความพอใจค่าตอบแทน (Pay Satisfaction Questionnaire; PSQ) เป็นแบบสอบถามที่เจาะจงเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน โดยเครื่องมือนี้จะวัดระดับความพอใจที่มีต่อแต่ละประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเดือนหรือค่าตอบแทน เช่น ระดับเงินเดือน อัตราการขึ้นเงินเดือน การให้ผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะต่าง ๆ โครงสร้างเงินเดือน เป็นต้น
การประเมินความพึงพอใจในงาน
การประเมินความพึงพอใจในงานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มี 2 วิธี คือ
1.   การวัดแบบให้คะแนนแบบเดี่ยว (Single global rating) เป็นวิธีการถามคำถามและให้พนักงานตอบเป็นรายบุคคล และมีการให้คะแนนการตอบเป็นช่วงลำดับระหว่าง 1-5 เช่น พึงพอใจมากที่สุด (5), พึงพอใจมาก (4), เฉย ๆ (3), ไม่ค่อยพอใจ (2), ไม่พอใจอย่างมาก (1)
2.   การวัดแบบให้คะแนนรวบยอด (Summation Score) เป็นวิธีการประเมินความคิดเห็นของพนักงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยการใช้สเกลการวัดซึ่งถามผู้ตอบโดยให้แบ่งสัดส่วนจากคะแนน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ 100 คะแนน เพื่อระบุถึงความสำคัญที่สัมพันธ์กันของคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานและถามความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อปัจจัยดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับธรรมชาติของงาน การกำกับดูแลงาน อัตราค่าจ้าง โอกาสความก้าวหน้าในงาน เป็นต้น
สิ่งที่กำหนดถึงความพึงพอใจในงาน
จากการศึกษางานวิจัยทางด้านนี้พบว่า สิ่งที่มีความสำคัญซึ่งเป็นตัวกำหนดถึงความพึงพอใจในงานของบุคคลประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.   งานที่ท้าทายระดับสติปัญญา (Mentally challenging work) หมายถึงการที่พนักงานมีแนวโน้มที่จะชอบงานที่ให้โอกาสในการใช้ทักษะและความสามารถ รวมทั้งงานที่ทำมีความหลากหลาย มีอิสระในงาน และมีข้อมูลป้อนกลับในงานที่ทำ ลักษณะเหล่านี้ทำให้เกิดการท้าทายทางสติปัญญา ทำให้พนักงานมีความสุขและพอใจการทำงาน
2.   ความเสมอภาคในการได้รับรางวัล (Equitable rewards) พนักงานมีความต้องการระบบการจ่ายค่าจ้างและเลื่อนตำแหน่งที่ยุติธรรม เพราะถ้าองค์การจ่ายค่าจ้างให้ตามมาตรฐานของค่าแรงและมีสวัสดิการตามสมควร พนักงานก็จะมีความพึงพอใจ  เช่นเดียวกับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่มีความยุติธรรม เพราะการเลื่อนตำแหน่งเป็นโอกาสในการก้าวหน้าของพนักงาน เป็นการเพิ่มสถานภาพทางสังคม
3.   การให้การสนับสนุนช่วยเหลือเกี่ยวกับการทำงาน (Supportive working condition) พนักงานจะให้ความสนใจถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งในแง่ของความสะดวกสบายส่วนตัวและความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงาน พนักงานจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่ดี มีระดับอุณหภูมิพอเหมาะ แสงสว่างได้มาตรฐาน และพนักงานจะชอบสถานที่ทำงานที่มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย
4.   การช่วยเหลือสนับสนุนของเพื่อนร่วมงาน (Supportive colleagues) บุคคลย่อมต้องการปฏิกิริยาโต้ตอบทางสังคม ดังนั้น มิตรภาพ และความช่วยเหลือสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานจึงเป็นการเพิ่มความพึงพอใจให้พนักงานมากขึ้น
5.   บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับงาน (The personality-job fit) จากทฤษฎี Holland’s personality-job fit theory มีข้อสรุปว่า ถ้าบุคลิกภาพของบุคคลกับสายงานอาชีพมีความสอดคล้องกันในระดับสูง จะทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในงานสูงเช่นด้วยกัน โดยเหตุผลที่ว่า บุคคลที่มีบุคลิกภาพเข้ากันได้กับงานอาชีพที่เขาเลือก จะพบว่าเขาเหล่านั้นจะเข้ากันได้ดีกับงาน จึงมีความพอใจในงานและประสบความสำเร็จในงาน

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ, 2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991 , 2545
    ร็อบบินส์, สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า , 2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ