วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 13 ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ทฤษฎีการจูงใจที่มีชื่อสียง ได้รับการยอมรับและนำไปอ้างอิงมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ทฤษฎีนี้ครับ
ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการ (Hierarchy of Needs) ของ MASLOW
          Abraham Maslow (1940) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐ ฯ ได้พัฒนาทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ขึ้น โดยให้ความสนใจกับความต้องการของบุคคลซึ่งจะสร้างความกดดันและแรงขับทางพฤติกรรม โดยได้ตั้งสมมติฐานความต้องการไว้ 3 ข้อ คือ
1. คนมีความต้องการอยู่เสมอและไม่มีที่สิ้นสุด
2. ความต้องการของมนุษย์จะเรียงลำดับตามความสำคัญจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง
3. ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้วไม่สามารถนำมาตัวกระตุ้นได้อีก

Maslow ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ แบ่งเป็น 5 ลำดับดังที่แสดงไว้ดังนี้


1.ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น มีอาหารรับประทาน มีน้ำดื่ม มีเสื้อผ้า มีชั่วโมงทำงานอย่างเหมาะในแต่ละวัน จัดสถานที่ทำงานให้สะดวกสบาย จัดให้มีเครื่องมือในการทำงานให้ครบ และจัดให้มีเวลาหยุดพักผ่อนระหว่างเวลาทำงานเป็นระยะ
2.ความต้องการด้านความปลอดภัย และมั่นคง (Safety/Security Needs) เป็นความต้องการปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน เช่น ผู้บริหารต้องจัดให้มีสภาพการทำงานที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัย ให้มีความมั่นคงในการทำงาน มีเงินเดือนและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม
3.ความต้องการด้านสังคมและการยอมรับ (Social Belonging Needs) ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คือการมีผู้ร่วมงานที่มีความเป็นมิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามีหัวหน้าที่มีมนุษย์สัมพันธ์
4.ความต้องการยกย่อง นับถือ (Esteem Needs) เป็นความต้องการได้รับความนับถือ ความมีชื่อเสียง คือความรับผิดชอบงานที่มีความสำคัญสูง การได้รับความชมเชย และการยอมรับจากหัวหน้า และการได้เลื่อนตำแหน่งที่มีสถานภาพที่สูงขึ้น
5.ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Needs for Self Actualization) เป็นความต้องการที่ใช้ความสามารถสูงสุดที่ตนมีอยู่ทำในสิ่งที่สามารถจะทำได้ ได้แก่ ลักษณะการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและมีอิสระสูง การให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ, 2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991 , 2545
    ร็อบบินส์, สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า , 2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ