วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 1 ความหมายของโครงการ (Project)

แนวคิดเกี่ยวกับโครงการและการบริหารโครงการ
คำ ๆ หนึ่งที่เราพูดกันบ่อย ๆ ในการทำงานหรือในการพูดคุยกันก็คือคำว่า “โครงการ” หรือ “Project” จนคำนี้กลายเป็นคำธรรมดาสามัญที่ใคร ๆ ก็พูดกันได้ทุกวัน แต่เราจะรู้หรือไม่ว่าคำว่า “โครงการ” แท้จริงแล้วมันมีความหมายว่าอะไร
ความหมายของโครงการ (Project)
            มีผู้ให้ความหมายของคำว่า “โครงการ” ดังต่อไปนี้
            Giddies (1959:89) กิจกรรมของหน่วยงานหนึ่งในองค์การที่มุ่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งเวลา งบประมาณ และวิธีการดำเนินการเป็นตัวกำกับ
            Hirschman (1967:1) การลงทุนอย่างหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ ขนาดการดำเนินงาน สถานที่ตั้ง แนวคิดในการดำเนินงาน และมีผลต่อการพัฒนาต่อไปอย่างชัดเจน โดยโครงการมีฐานะเป็นส่วนประกอบอันสำคัญของกระบวนการพัฒนา
            Solomon (1970:946) กิจกรรมขนาดเล็กที่สุด ที่สามารถจำแนก วิเคราะห์เพื่อการวางแผนและการบริหารได้
            Anderson and Ball (1978:34) กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการลงทุนในการดำเนินงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อการแก้ปัญหาสังคม ทางเศรษฐกิจและการเมือง
            ประชุม รอดประเสริฐ (2529, หน้า 5) โครงการเป็นแผนงานที่จัดทำขึ้นอย่างมีระบบ โดยประกอบด้วยกิจกรรมย่อยหลายกิจกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรในการดำเนินงาน และคาดหวัง ที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า แผนงานนี้จะต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในการดำเนินงานจะต้องมี วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน จะต้องมีพื้นที่ในการดำเนินงานเพื่อให้บริการและสนอง ความต้องการของกลุ่มบุคคลในพื้นที่นั้น และจะต้องมีบุคคลหรือหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินงาน
          
           ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โครงการ หมายถึง การดำเนินงานหรือกิจกรรมที่มีความสลับซับซ้อนที่ไม่เป็นงานประจำวัน มีการดำเนินงานในเวลาใดเวลาหนึ่งหรือมีการกำหนดระยะเวลา งบประมาณ ทรัพยากรการบริหาร และมีการออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจง ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือผู้บริโภค เป็นสำคัญ ซึ่งองค์การโดยทั่วไปจะมีการกำหนดเป้าหมายที่มุ่งให้โครงการสามารถ ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า ในขณะที่โครงการจะมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับงานประจำขององค์การด้วย แต่โครงการจะมีความแตกต่างออกไปจากหน้าที่ปฏิบัติปกติ สำหรับลักษณะของ โครงการ ได้แก่ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ มีการระบุช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ บุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษจากฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติ มีการดำเนินกิจกรรมที่ไม่เคย ปฏิบัติมาก่อน รวมทั้งมีการใช้เงินทุน เวลา และการปฏิบัติการ เป็นต้น
โครงการจึงเป็นกิจกรรมที่ได้รับการจัดทำขึ้นแล้วนำไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โครงการทุกโครงการที่กำหนดขึ้นจะต้องสอดคล้องและสนับสนุนแผนงาน มีรูปแบบการดำเนินงานที่ได้จัดเตรียมได้อย่างมีระบบ การดำเนินงานของโครงการจะต้องเป็นที่ตกลงยอมรับและรับรู้กันทุกฝ่าย โครงการทุกโครงการจะต้องมีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ รวมทั้งจะต้องได้รับการสนับสนุนเอาใจใส่ดูแลจากผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญโครงการจะต้องได้รับการตรวจสอบและการประเมินอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น