วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การจัดการโครงการ ตอนที่ 2 การบริหารโครงการ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (2549) ได้ให้ความหมายของการบริหารโครงการว่า เป็นการวางแผนและการบริหารทรัพยากรใด ๆ ทั้งตัวมนุษย์ และในเรื่องของงานโดยคาดคะเนทิศทางของโครงการตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงวันเสร็จงาน รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน ที่จะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ และสามารถที่จะประมาณราคาของโครงการได้
รัตนา สายคณิต (2547) ได้สรุปความหมายของการบริหารโครงการ หมายถึง การทำหน้าที่ต่าง ๆ ทางด้านการบริหารได้แก่การวางแผน การจัดองค์กร การบังคับบัญชา การประสาน-งาน และการควบคุมการใช้ทรัพยากรของโครงการ เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้และบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้
จากความหมายของการบริหารโครงการที่กล่าวเบื้องต้นแล้วนั้น สรุปได้ว่า การบริหารโครงการจึงเป็นการจัดการ การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยที่ทรัพยากรที่ต้องจัดการในที่นี้หมายถึงบุคลากร รวมถึงความเชี่ยวชาญและความสามารถที่มีอยู่ ความร่วมมือของทีมงาน เครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลระบบงานเทคนิค เงินทุน และเวลา
ความจำเป็นในการวางแผนงาน
โครงการเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของแผนงาน แผนแต่ละแผนจะประกอบไปด้วยโครงการที่ต้องครอบคลุมงานทุกส่วนของแผน แผนไม่สามารถจะดำเนินไปได้ หรือดำเนินไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพหากแผนนั้นขาดโครงการหรือมีโครงการแต่ไม่ครอบคลุมงานที่จะต้องทำ ถ้าจะกล่าวโดยสรุป ก็อาจถือได้ว่าวัตถุประสงค์หนึ่งหรือจุดมุ่งหมายหนึ่งของแผนก็คือโครงการหนึ่งนั้นเอง
โครงการทุกโครงการจะต้องมีเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของโครงการ หากรายการปฏิบัติงานหรือโครงการมีความชัดเจนแล้ว ย่อมทำให้การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนโครงการมีกระบวนการและขั้นตอนเช่นเดียวกับกระบวนการวางแผนโดยทั่วไป คือประกอบด้วยกระบวนการ การกำหนดวัตถุประสงค์ การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล การค้นหาโอกาสและการพิจารณาถึงอุปสรรค ปัญหา การพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ การเลือกแนวทางที่ดีที่สุด และกระบวนการตรวจสอบ ประเมินผลโครงการ
           การวางแผนโครงการมีความจำเป็นต่อแผนการปฏิบัติงานดังนี้
1.             ช่วยให้แผนมีความชัดเจน
2.             ช่วยให้การปฏิบัติตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.             ช่วยให้มีทรัพยากรใช้อย่างพอเพียง
4.             ช่วยให้แผนมีความเป็นไปได้สูง
5.             ช่วยลดความขัดแย้งและขจัดความซ้ำซ้อนในหน้าที่ความรับผิดชอบ
6.             สร้างทัศนคติที่ดีต่อบุคลากรในหน่วยงาน
7.             สร้างความมั่นคงให้กับแผนและสร้างความมั่นใจให้กับคณะทำงาน
8.             การควบคุมแผนงานทำได้ง่ายและไม่ซับซ้อน
            ความจำเป็นของการวางแผนโครงการอาจเป็นไปได้มาก แต่จุดสำคัญคือ เพื่อทำให้แผนมีความชัดเจนและเป็นแผนที่มีรายละเอียดนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โครงการทุกโครงการควรต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผน และมีความเหมาะสม รัดกุมกับสภาพของงาน จึงจะทำให้แผนงานบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น