วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 4/1 ประเภทและองค์ประกอบขององค์การ

หลังจากได้ปูพื้นกันไป 3 ตอนแล้ว ในตอนนี้ เราจะมารู้จักกับประเภทและองค์ประกอบขององค์การกันครับ
ประเภทขององค์การ
          มีนักวิชาการได้ศึกษาถึงประเภทขององค์การเอาไว้ในหลายลักษณะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะถือเอาว่าในการศึกษาด้านการจัดการและพฤติกรรมองค์การนั้น จะแบ่งประเภทขององค์การออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. องค์การแบบเป็นทางการและองค์การแบบไม่เป็นทางการ (Formal and Informal Organization)
องค์การแบบเป็นทางการ ก็คือองค์การที่มีการกำหนดโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในองค์การในเรื่องอำนาจหน้าที่ (Authority) ความรับผิดชอบ (Responsibility) หรือระดับการบังคับบัญชาไว้อย่างชัดเจนแน่นอน ขณะที่องค์การแบบไม่เป็นทางการจะมีลักษณะการจัดโครงสร้างที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามความต้องการของสมาชิก
2. องค์การแบบปฐมภูมิและองค์การแบบทุติยภูมิ (Primary and Secondary Organization)
องค์การแบบปฐมภูมิ คือองค์การที่เกิดขึ้นเอง สมาชิกแต่ละคนจะมีความสัมพันธ์กันเป็นการส่วนตัว เช่น ครอบครัว ขณะที่องค์การแบบทุติยภูมิ จะเป็นองค์การที่เกิดจากกรรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อทำกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยที่สมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์กันแบบไม่เป็นส่วนตัว เช่น บริษัท เป็นต้น
         องค์ประกอบขององค์การ
         องค์การต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.  จุดมุ่งหมายองค์การ (Organization Goal) หมายถึง เป้าหมายที่องค์การต้องการทำให้สำเร็จ เช่น บริษัท มีจุดมุ่งหมายต้องการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า แสวงหากำไร และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับพนักงาน
จุดมุ่งหมายขององค์การจะเป็นเหมือนศูนย์รวมให้บุคคลมาทำงานร่วมกัน เพราะจะเป็นจุดที่ชี้นนำให้สมาชิกในองค์การปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ จุดมุ่งหมายยังช่วยให้บุคคลมองไปถึงอนาคต มีการวางกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่จะช่วยให้งานสำเร็จตามที่หวัง  ดังนั้นจุดมุ่งหมายขององค์การจึงอาจมีส่วนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการทำงานขององค์การให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
 2.  โครงสร้างขององค์การ (Organization Structure) หมายถึง ระบบงานตลอดจนความสัมพันธ์ของอำนาจหน้าที่ต่างๆ ในองค์การ การออกแบบโครงสร้างขององค์การนั้น นอกจากจะเป็นการออกแบบอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการจัดกลุ่มกิจกรรมในการทำงานเป็นแผนกหรือฝ่ายต่างๆ การประสานงาน การสื่อสาร และการควบคุมการทำงานภายในองค์การอีกด้วย  ซึ่งการกำหนดโครงสร้างขององค์การ อาจพิจารณาจากรูปแบบและการดำเนินกิจกรรม หรืออาจพิจารณาจากความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ในองค์การ ซึ่งเราจะเขียนในรูปแบบ “แผนผังองค์การ” (Organization Chart) โดยทั่วไปโครงสร้างขององค์การประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ

1.       ต้องมีการระบุงานหรือกระบวนการทำงานที่ให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ
2.  ต้องเชื่อมโยงงานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดโครงข่ายการติดต่อประสานงาน การรายงาน
การจัดโครงสร้างองค์การมีวัตถุประสงค์เพื่อการสั่งการและการประสานงานของบุคลากรภายในองค์การ เพื่อให้การทำงานบรรลุจุดมุ่งหมาย ถ้าองค์การใดมีโครงสร้างองค์การที่ดี จะทำให้คนในองค์การสามารถทำงานร่วมกัน ติดต่อประสานงาน และเชื่อมโยงงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับตอนนี้ขอหยุดแค่นี้ก่อนนะครับ ข้อที่ 3 และ 4 จะมานำเสนอในตอนต่อไป
         

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,2545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2550 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ