วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 8 การวัดบุคลิกภาพของบุคคล

การวัดบุคลิกภาพของบุคคล
โดยทั่วไป บุคลิกภาพของบุคคลสามารถที่จะวัดได้ด้วยการใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality Test) เพื่อให้ทราบถึงลักษณะนิสัยของบุคคล ซึ่งที่นิยมใช้กันมากคือ

1. แบบทดสอบมายเยอร์-บริกซ์ (Myers-Briggs Types Indicator: MBTI) เป็นแบบทดสอบที่ถือกำเนิดโดย Carl Jung นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง และได้รับการพัฒนาต่อโดย Isabel Myers และ Katharine Briggs ทฤษฏีนี้บอกว่า คนเราทุกคนเกิดมาจะมีความคุ้นเคยกับ 4 สิ่งต่อไปนี้แตกต่างกัน คือ
1. การหันเข้าหาคน
- พวกที่มักหันเข้าหาคนอื่นหรือโลกภายนอก (Extroversion)
- พวกที่มักหันเข้าหาตัวเอง (Introversion)
2. การรับข้อมูล
- พวกที่ถนัดการรับรู้ด้วยสัมผัส (Sensing)
- พวกที่รับรู้ด้วยการหยั่งรู้ (Intuition)
3. การตัดสินใจ
- พวกที่ตัดสินด้วยความคิด (Thinking)
- พวกที่ตัดสินด้วยความรู้สึก (Feeling)
4. รูปแบบการตัดสินใจ
- พวกที่ชอบการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ (Perceptive)
- พวกที่ชอบความเป็นระบบ (Judgmental)
ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาบุคลิกภาพในวัยเด็ก คนเราต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อให้ได้บุคลิกภาพที่ชัดเจน ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต ทุกคนจะพัฒนาด้านตรงข้ามของบุคลิกที่ขาดหายไป เพื่อให้เกิดความสมดุล และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะที่มั่นคง เช่น พวก Extrovert จะเริ่มพัฒนา Introversion ส่วนพวก Introvert จะพัฒนา Extroversion
Extroverts (E): ร่าเริง เข้ากับคนง่าย ชอบสังคม มองหาประสบการณ์ในมุมกว้าง ค้นพบตัวเองด้วยการพูดและทำ ทำก่อนคิด และรู้สึกว่าการได้อยู่กับคนอื่นเป็นการเติมพลัง
Introverts (I): เงียบขรึม ครุ่นคิด สนิทกับคนแบบตัวต่อตัว มองหาประสบการณ์ในมุมลึก ค้นพบตัวเองด้วยการคิด ทำก่อนคิด และรู้สึกว่าเวลาอยู่คนเดียวคือเวลาของการเติมพลัง
Sensing (S): รับข้อมูลด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ติดดิน อยู่กับปัจจุบัน เป็นนักปฏิบัติ มองวันนี้เป็นหลัก ทำอะไรตามขั้นตอน เก็บรายละเอียดเก่ง
Intuitive (N): รับข้อมูลด้วยญาณหยั่งรู้ สัมผัสที่หก หรือ แรงบันดาลใจ สนใจในความเป็นไปได้ ใช้จินตนาการ และวิสัยทัศน์ ชอบลองของใหม่ ทำงานหนักเป็นระยะ ๆ มองภาพรวม ละเลยรายละเอียด
Thinking (T): ใช้ตรรกะวิเคราะห์หาคำตอบ มีหลักการ มีกฎ มีกระบวนการ ไม่ลำเอียง ช่างวิจารณ์
Feeling (F): กรองข้อมูลด้วยค่านิยมส่วนตัว ให้ความสำคัญกับการปรองดองกัน ขี้สงสาร ชอบช่วยเหลือ และอ่อนไหวกับคำวิจารณ์
Judgmental (J): มีระบบ มีประสิทธิภาพ ทำอะไรต้องมีแผน ทำตามแผน ตัดสินใจเร็ว
Perceptive (P): ปรับตัวไปตามสถานการณ์ ชอบเปิดทางเลือกไว้ มองหาทางออกใหม่ ๆ ไม่ตัดสินใจเพราะอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ
อักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของแนวโน้มทั้งแปดอย่างเมื่อนำมารวมกัน สามารถใช้แทนบุคลิกภาพแบบหนึ่งๆของคนได้ และทำให้เกิดบุคลิกภาพที่แตกต่างกันถึง 16 แบบ เช่น ESTJ หมายถึงคนที่มี แนวโน้มเป็น extrovert, sensor, thinker และ judger (สังเกตว่า Intuition ใช้ตัวย่อ N เพื่อมิให้ซ้ำกับ Introversion) อาจพบว่าคนไทป์เดียวกันสองคน อาจจะดูแตกต่างกันมาก นั้นเป็นเพราะทั้งสองมีแนวโน้มของ MBTI ที่ต่างกันมาก
2. แบบทดสอบ Big Five Model หรือที่เรียกว่าแบบทดสอบบุคลิกภาพด้วยปัจจัย 5 ประการ (The five – factor model of personality) เป็นแบบทดสอบที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดอีกแบบหนึ่ง ปัจจัย 5 ประการตามแบบทดสอบนี้ประกอบด้วย
1.       บุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion) หมายถึง บุคลิกภาพของบุคคลที่ชอบสังคม ชอบแสดงออก
2.      บุคลิกภาพแบบประนีประนอม (Agreeableness) หมายถึง บุคลิกภาพของบุคคลที่มีจิตใจดี พร้อมให้ความร่วมมือ เป็นที่น่าไว้วางใจ
3.      บุคลิกภาพที่เป็นลักษณะยึดมั่นในหลักการ (Conscientiousness) หมายถึง บุคลิกภาพของบุคคลที่มีความรับผิดชอบ มีหลักการและเหตุผล มั่งมั่นเพื่อความสำเร็จ
4.      บุคลิกภาพที่มีอารมณ์มั่นคงในด้านใดด้านหนึ่ง (Emotional stability) หมายถึงบุคลิกภาพของบุคคลที่สงบ มั่นคง กระตือรือร้น ตื่นตัว เก็บกด อ่อนไหว
5.      บุคลิกภาพที่เป็นลักษณะใจกว้าง (Openness to experience) หมายถึงบุคลิกภาพของบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงจินตนาการ ความมีสุนทรียภาพ และมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม

ตอนต่อไปจะพูดถึงเรื่อง ทัศนคติ ค่านิยมกันครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อ้างอิง :
    ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น,2551
    วิภาส ทองสุทธิ์ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : อินทภาษ,2552

    ตอบลบ
  2. อ้างอิง :
    สมยศ นาวีการ พฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991,1545
    ร็อบบินส์,สตีเฟนส์ พี. การจัดการและพฤติกรรมองค์การ - กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า,2552 แปลโดย วิรัช สงวนวงศ์วาน

    ตอบลบ