วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 17/2 กลุ่มคืออะไร

ในตอนนี้เราจะมาเริ่มทำความรู้จักกับ "กลุ่ม" กันครับ
ความหมายของกลุ่ม
กลุ่ม มีความหมายโดยทั่วไป คือ การรวมตัวกันของคณะบุคคล เพื่อที่จะทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งการให้ความหมายลักษณะนี้จะเป็นการให้ความหมายที่กว้าง แต่การศึกษาในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ จะต้องมีคำจำกัดความหรือนิยามที่ชัดเจน ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างดังนี้
Robbins (1993) ให้คำจำกัดความว่า กลุ่ม หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน โดยมีปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์ (2551) ได้ความหมายไว้ว่า คือระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานของกลุ่มหรือบทบาทและหน้าที่ของสมาชิก เพื่อที่จะทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนสมาชิกต่างมีความรู้สึกร่วมในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

ประเภทของกลุ่ม
เราสามารถจำแนกประเภทของกลุ่มในแต่ละองค์กรได้ 2 ประเภท ได้แก่
1.       กลุ่มแบบเป็นทางการ (Formal Group)
กลุ่มแบบเป็นทางการ หมายถึงกลุ่มที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามโครงสร้างขององค์การ เพื่อที่จะทำกิจกรรมสนองความต้องการขององค์การ โดยกลุ่มที่เป็นทางการจะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
-          กลุ่มตามสายบังคับบัญชา (Command Group) หมายถึงกลุ่มที่ถูกต้องขึ้นมาตามโครงสร้างขององค์การที่มีอยู่แล้ว เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
-          กลุ่มทำงานเฉพาะ (Task Group) หมายถึงกลุ่มที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมเฉพาะอย่างให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้
2.      กลุ่มแบบไม่เป็นทางการ (Informal Group)
กลุ่มแบบไม่เป็นทางการ หมายถึงกลุ่มที่สมาชิกจัดตั้งหรือรวมตัวขึ้นมาเอง โดยไม่เป็นไปตามคำสั่งหรือโครงสร้างขององค์การ ซึ่งมักจะก่อตั้งจากความสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิก และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการได้ในระยะเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยกลุ่มแบบไม่เป็นทางการอาจถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะต่อไปนี้
-          กลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน (Interest Group) หมายถึงกลุ่มที่รวมตัวเนื่องจากมีความสนใจหรือมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย
-          กลุ่มมิตรภาพ (Friendship Group) หมายถึงกลุ่มที่รวมตัวกันจากบุคคลที่มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยมากจะเป็นลักษณะร่วมบางประการที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น ลักษณะงาน อายุ พื้นฐานการศึกษา ลักษณะทางกายภาพ
นอกจากการแย่งประเภทของกลุ่มตามลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผู้แบ่งกลุ่มตามความสัมพันธ์ทางสังคมออกเป็น 2 ลักษณะต่อไปนี้
1.       กลุ่มแบบปฐมภูมิ (Primary Group) หมายถึงกลุ่มขนาดเล็กที่เกิดจากความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันของสมาชิกภายในกลุ่ม โดยความสัมพันธ์ที่กล่าวมามักจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น ความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
2.      กลุ่มแบบทุติยภูมิ (Secondary Group) หมายถึงกลุ่มขนาดใหญ่ซึ่งความสัมพันธ์ของสมาชิกจะมีลักษณะเป็นทางการ แบะมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลน้อยกว่ากลุ่มแบบปฐมภูมิ

เหตุผลที่บุคคลเข้าร่วมในกลุ่ม
นอกจากสาเหตุของการมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว เรายังสามารถจำแนกเหตุผลของการรวมกลุ่มออกมาได้อีก 6 ประเภท ได้แก่
1.       ความปลอดภัย (Safety) จากการศึกษาเรื่องแรงจูงใจพบว่า ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัย (Security and Safety Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน (Primary Needs) ที่แต่ละบุคคลต้องการ ซึ่งความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงเพียงความปลอดภัยทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงความปลอดภัยทางด้านจิตใจและเศรษฐกิจอีกด้วย
2.      สถานะ (Status) สมาชิกหลายคนเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ (Image) หรือสถานะทางสังคม เช่น การเข้าเป็นสมาชิกสโมสรต่าง ๆ
3.      การได้รับการนับถือ (Self-esteem) การได้รับการยอมรับนับถือ เป็นความต้องการในขั้นสูงของบุคคล ดังนั้นการเข้าร่วมกลุ่มจะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลภายนอก
4.      การมีส่วนร่วม (Affiliation) หลายคนต้องการเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น สมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่าง ๆ ชมรมผู้สูงอายุ
5.      อำนาจ (Power) เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจในการควบคุม ถ่วงดุล หรือต่อรองกับกลุ่มอำนาจอื่นทำให้สามารถทุ่มเทกำลังความสามารถและทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ เช่นการรวมตัวกันของพนักงานเป็นสหภาพแรงงาน (Labor Union)
6.       ความก้าวหน้า (Achievement) การรวมพลัง (Synergy) ของแต่ละบุคคลจะส่งผลให้กลุ่มสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ความก้าวหน้าหรือความสำเร็จนั้นจะครอบคลุมถึงความก้าวหน้าของกลุ่มหรือองค์การและความก้าวหน้าส่วนบุคคลของสมาชิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น