วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 19 ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่ม

ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่ม (Group Behavior Model)
ในการศึกษาพฤติกรรมกลุ่ม เราต้องดูถึงตัวแบบพฤติกรรมกลุ่มว่าประกอบไปด้วยอะไร มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะมีผลอย่างไรกับพฤติกรรมที่แสดงออกมาซึ่งก็คือผลลัพธ์นั่นเอง
ตัวแบบพฤติกรรมกลุ่มจะเริ่มที่องค์ประกอบแรกคือ อิทธิพลของเงื่อนไขภายนอกที่มีต่อกลุ่ม (External conditions imposed on the group) “กลุ่ม” อาจเป็นหน่วยงานย่อยหรือแผนกงานย่อยขององค์การ การทำงานของกลุ่มจึงต้องอยู่ภายใต้นโยบายโดยรวมขององค์การ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ กฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์การ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่องค์การมีอยู่ และวัฒนธรรมขององค์การนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขภายนอกที่มีผลต่อการทำงานของกลุ่ม โดยเฉพาะหากเป็นบริษัทลูก ก็ต้องอยู่ภายใต้นโยบายของบริษัทแม่
ต่อมาก็คือทรัพยากรสมาชิกกลุ่ม (Group Member Resources) ซึ่งก็คือคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม ระดับความสามารถในการทำงานของกลุ่ม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เช่น ความสามารถ คุณลักษณะ ความรู้ ทักษะของสมาชิกกลุ่ม
ส่วนที่ 3 ได้แก่โครงสร้างกลุ่ม (Group Structure) แต่ละกลุ่มงานจะมีโครงสร้างของกลุ่ม มีการแบ่งงาน กำหนดสายการบังคับบัญชา กำหนดช่วงการบังคับบัญชา และกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ซึ่งโครงสร้างกลุ่มจะทำหน้าที่กำหนดสิ่งต่าง ๆได้แก่
1.1    ผู้นำที่เป็นทางการ (Formal Leader) ซึ่งโดยปกติ ทุก ๆ กลุ่มงานจะต้องมีผู้นำหรือหัวหน้า ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของกลุ่ม
1.2   บทบาท (Roles) คือรูปแบบของพฤติกรรมที่ได้รับการคาดหวังของบุคคลแต่ละตำแหน่งในหน่วยสังคมนั้น โดยสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะมีบทบาทที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์
1.3   บรรทัดฐาน (Norms) หมายถึง มาตรฐานพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รับรู้ร่วมกันของกลุ่ม บรรทัดฐานจะเป็นตัวกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มต้องปฏิบัติตาม เช่น การปฏิบัติตัว การแต่งกาย
1.4   สถานะ (Status) คือตำแหน่งหรือระดับชั้นหรือสถานภาพของบุคคลในกลุ่ม ซึ่งในสังคมมนุษย์ทั่วไปจะมีการแบ่งแยกชั้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างของสมาชิก และเป็นสิ่งจูงใจในการแสดงออกด้านพฤติกรรมต่าง ๆ
1.5   ขนาด (Group Size) ขนาดของกลุ่มจะมีผลต่อพฤติกรรมโดยรวมของกลุ่ม เช่น กลุ่มขนาดเล็กจะทำงานได้เสร็จเร็วกว่ากลุ่มใหญ่ แต่ถ้าต้องระดมความคิด แก้ไขปัญหา กลุ่มใหญ่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า
1.6    องค์ประกอบของกลุ่ม (Composition) การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ ทักษะที่หลากหลายของสมาชิก ดังนั้นกลุ่มที่มีสมาชิกที่มีความหลากหลายทั้งเพศ ความรู้ มุมมอง ทักษะ จะมีความได้เปรียบ
1.7   ความผูกพันในกลุ่ม (Group Cohesiveness) คือความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เป็นความผูกพันซึ่งกันและกัน และการมีส่วนร่วมในวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลุ่มที่มีความสามัคคีกันมาก จะมีผลการทำงานที่ดี
ซึ่งทั้งทรัพยากรสมาชิกกลุ่มและโครงสร้างกลุ่มจะประกอบเข้ากันเป็นกระบวนการกลุ่ม (Group Processes) ซึ่งเป็นการพิจารณาถึงกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องกันไปภายในกลุ่มทำงานประกอบไปด้วยรูปแบบการสื่อสารของสมาชิก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การตัดสินใจ พฤติกรรมผู้นำ ความขัดแย้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกลุ่มการทำงาน (Task Group) ที่เป็นปัจจัยอีกประการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในการจัดกลุ่มเพื่อการทำงาน ผู้บริหารควรจะต้องพิจารณาถึงขนาดของภารกิจที่ต้องทำ ซึ่งหากเป็นภารกิจที่ต้องใช้การปรึกษาหารือ การระดมสมอง ข้อมูล ความคิด ผู้บริหารควรจัดเป็นกลุ่มการทำงานขนาดใหญ่จะเหมาะสมกว่า
          ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือผลงานและความพึงพอใจ (Performance and Satisfaction) ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างองค์การ การกำหนดอำนาจหน้าที่ กลยุทธ์องค์การ การให้ผลตอบแทน เป็นต้น ส่วนความพึงพอใจในงานนั้น จากการศึกษาพบว่ากลุ่มขนาดใหญ่จะมีความพึงพอใจในงานน้อยกว่ากลุ่มขนาดเล็ก เนื่องจากความมีส่วนร่วมในงานของกลุ่มขนาดใหญ่จะน้อย และกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก อาจเกิดความขัดแย้งได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น