วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 29 ทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์

ทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Theory) เป็นแนวคิดในสมัยต่อมาที่ศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกของผู้นำที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการนำของเขา ซึ่งได้มีสถาบันทางวิชาการหลายแห่งได้ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
การศึกษาของมหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa Studies) โดย Kurt Lewin และคณะได้แบ่งผู้นำออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
 ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) หมายถึงผู้นำที่รวมอำนาจการบริหารงาน โดยทำหน้าที่ตัดสินใจให้กับกลุ่ม แล้วค่อยสื่อสารความคิดนั้นออกมาให้สมาชิกปฏิบัติ
  ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leader) หมายถึงผู้นำจะเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดและตัดสินใจร่วมกัน
  ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-faire Leader) หมายถึงผู้นำจะจำกัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนกับสมาชิกในกลุ่ม โดยผู้นำจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลและการช่วยเหลือที่จำเป็นแก่สมาชิก และให้สมาชิกตัดสินใจเองตามความเหมาะสม
ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า
-  ผู้นำแบบประชาธิปไตยก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อองค์การมากที่สุด
-  ผู้นำแบบเผด็จการและเสรีนิยมอาจเป็นรูปแบบที่ดีในบางสถานการณ์และบางองค์การ

การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Studies) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้แบ่งลักษณะของผู้นำออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.พฤติกรรมของผู้นำที่มุ่งคน (Employee-centered behavior) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกในกลุ่ม
2.พฤติกรรมของผู้ที่มุ่งงาน (Job-centered behavior) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานและผลลัพธ์ โดยผู้นำจะมีพฤติกรรมที่มุ่งเน้นให้สมาชิกทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
ผลการวิจัยสรุปว่า พฤติกรรมของผู้นำแบบ Employee-centered behavior จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสร้างความพอใจกับพนักงานมากกว่า
การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (The Ohio State Studies) ได้สรุปปัจจัยที่มีผลต่อภาวะผู้นำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. พฤติกรรมที่มุ่งสร้างโครงสร้างงาน (Initiation structure) คือ ผู้นำที่พิจารณาให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติงาน และชี้นำให้สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติตาม ผู้นำประเภทนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง
2. พฤติกรรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ของบุคคล (Consideration) คือ ผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน มีความเป็นกันเอง ปฏิบัติต่อสมาชิกอย่างเสมอภาค แสดงออกถึงความไว้วางใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
สรุปได้ว่าเมื่อมีพฤติกรรมที่มุ่งสร้างโครงสร้าง (Initiation structure) สูง ก็จะก่อให้เกิดภาวะผู้นำแบบเผด็จการ และเมื่อพฤติกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ (Consideration) สูง ก็จะเกิดภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น