วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 36 กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้ง

กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งในองค์การ
            ในการจัดการความขัดแย้ง เราควรจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การรักษาผลประโยชน์ (Assertiveness) และการร่วมมือ (Cooperation) ของคู่กรณี ซึ่งสามารถจำแนกวิธีจัดการความขัดแย้งเป็น 5 วิธี ดังนี้
1.      การแข่งขัน (Competition) หรือที่เรียกว่า ลักษณะแบบ "ฉลาม" (บังคับ, ชอบใช้กำลัง) เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้อำนาจตามตำแหน่ง (Authority) คำนึงถึงเป้าหมายงานหรือความต้องการของตนเองมากกว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน พยายามแสดงอำนาจเหนือฝ่ายตรงข้าม โดยการบังคับให้ยอมรับทางออกของความขัดแย้งที่ตนกำหนด จึงเกิดการต่อสู้แข่งขันกัน และทำให้เกิดสถานการณ์ “ชนะ – แพ้ (Win – Lose)” ขึ้น ซึ่งหมายถึงถ้าฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายก็จะต้องแพ้
2.      การร่วมมือ (Collaboration) หรือที่เรียกว่า ลักษณะแบบ "นกฮูก" (เผชิญหน้ากัน, สุขุม) รูปแบบนี้ จะมองความขัดแย้งว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ และหาทางออกที่สนองต่อเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย เป็นวิธีที่ผู้ที่มีความขัดแย้งจะพยายามหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกันโดยการยอมรับความคิดเห็นหรือข้อมูลของอีกฝ่าย หาทางออกร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราเรียกแนวทางนี้ว่า “ชนะ – ชนะ (Win – Win)” คือได้ชัยชนะทั้งคู่
3.      การหลีกเลี่ยง (Avoidance) หรือที่เรียกว่า ลักษณะแบบ "เต่า" (ถอนตัว, หดหัว) มีลักษณะหลีกหนีความขัดแย้ง ยอมละวัตถุประสงค์และความสัมพันธ์ส่วนตัว พยายามหลีกหนีจากประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับคู่กรณี จะเกิดขึ้นเมื่อคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันจะหาทางออก โดยเลือกที่จะถอนตัวออกจากปัญหาหรือหยุดปัญหาโดยไม่สนใจ ไม่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง
4.      การปรองดอง (Accumulation) หรือที่เรียกว่า ลักษณะแบบ "ตุ๊กตาหมี" (สัมพันธภาพราบรื่น) ลักษณะนี้เชื่อว่าสัมพันธภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เป้าหมายส่วนตัวมีความสำคัญน้อย บางครั้งฝ่ายหนึ่งอาจมีความไม่พอใจ แต่พยายามไม่สนใจหรือมองข้ามปัญหาไป เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีโดยเป็นฝ่ายยอมให้ ยอมรับ หรือยอมยุติปัญหาเอง
5.      การประนีประนอม (Compromise) หรือที่เรียกว่า ลักษณะแบบ "สุนัขจิ้งจอก" (ประนีประนอม, แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) รูปแบบนี้ จะคำนึงถึงเป้าหมายส่วนตนและสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นในระดับปานกลาง แสวงหาการประนีประนอม ยอมละเป้าหมายส่วนตนบางส่วนและชักจูงให้ผู้อื่นยอมสละเป้าหมายบางส่วน เป็นการแบ่งปันความคิดเห็นเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน โดยทั้งสองได้ประโยชน์ร่วมกันและไม่เกิดความสูญเสียหรือฝ่ายใดชนะ การประนีประนอมนี้จะทำให้เกิดทางออกที่มีความพึงพอใจและยอมรับทั้งคู่

       ลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น