วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมองค์การ ตอนที่ 25 การติดต่อสื่อสาร

การติดต่อสื่อสาร (Communication) หมายถึง การแลกเปลี่ยนสารสนเทศและการส่งผ่านหรือถ่ายทอดความหมายใด ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจากผู้ส่ง (sender) ไปยังผู้รับ (Receiver) ดังนั้น การติดต่อสื่อสารจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อสามารถส่งผลต่อความหมายและผู้รับเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง การติดต่อสื่อสารอาจมีลักษณะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) หรือเป็นเครือข่ายในองค์การที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การติดต่อสื่อสารขององค์การ (Organizational Communication)

หน้าที่ของการติดต่อสื่อสาร (Functions of Communication)
การติดต่อสื่อสารมีความสำคัญต่อผู้บริหารและต่อองค์การเพราะการติดต่อสื่อสารจะทำหน้าที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1.      Control: ควบคุมพฤติกรรมของพนักงานในสายการบังคับบัญชา การปฏิบัติงานของพนักงานตามที่กำหนดไว้ในคำอธิบายลักษณะงาน (Job Description) จะต้องมีการติดต่อสื่อสาร และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บังคับบัญชาลำดับถัดขึ้นไป การติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการ(Formal Communication) จึงเป็นการควบคุมพฤติกรรมของพนักงานไปด้วยในตัว
2.      Motivation: จูงใจพนักงาน ในการมอบหมายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารจะต้องอธิบายรายละเอียดของงาน เป้าหมาย วิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งผลตอบแทนที่จะได้หากผลงานออกมาดี การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารที่ดีระหว่างผู้บริหารและพนักงาน
3.      Emotional Expression: การทำงานร่วมกันของพนักงานภายในหน่วยงาน เป็นสังคมที่พนักงานมีความร่วมมือผูกพัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน เป็นที่ที่พนักงานได้พูดคุยแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ต่อกัน
4.      Information: พนักงานแต่ละคน แต่ละกลุ่มจำเป็นต้องได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับหน่วยงาน เพื่อนร่วมงาน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
การติดต่อสื่อสารขององค์การ (Organizational Communication)
            การติดต่อสื่อสารภายในองค์การ อาจแบ่งการพิจารณาได้เป็น 2 เรื่องคือ
1.      การติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ (Formal and Informal Communication Flow)
2.      เครือข่ายของการติดต่อสื่อสาร( Communication Network)

การติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
การติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการ (Formal Communication) หมายถึงการติดต่อสื่อสารตามสายการบังคับบัญชา หรือการติดต่อสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติในองค์การ ส่วนการติดต่อสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ (Informal Communication) คืการติดต่อสื่อสารที่ไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างของสายการบังคับบัญชา เช่น การสนทนากันในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ซึ่งการติดต่อสื่อสารที่ไม่เป็นทางการอาจทำให้เกิดผลตามมาได้ 2 ประการ คือ
1.      พนักงานได้พูดจา หรือสังสรรค์กันเพื่อบรรลุความต้องการทางสังคม
2.      อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานทั้งทางบวกและทางลบ

รูปแบบทิศทางของการติดต่อสื่อสาร
ทิศทางการติดต่อสื่อสารภายในองค์การอาจแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1.      แบบบนลงล่าง (Downward Communication) คือการติดต่อจากผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชามายังพนักงานในรูปประกาศ คำสั่ง
2.      แบบล่างขึ้นบน (Upward Communication) คือการติดต่อสื่อสารจากพนักงาน หรือผู้ใต้บังคับ บัญชา ไปยังผู้บริหาร หรือผู้บังคับบัญชาในรูปการรายงานผลการปฏิบัติงาน หรือปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งการเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะ
3.      แบบแนวราบ (Lateral Communication) คือการติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงานในระดับเดียวกันขององค์การเดียวกัน เป็นการติดต่อสื่อสารแนวนอน (Horizontal) ทำให้เกิดความร่วมมือ หรือประสานงานกัน
4.   แบบทแยงมุม (Diagonal Communication) คือการติดต่อสื่อสารข้าแผนก ข้ามระดับสายการบังคับบัญชา การติดต่อสื่อสารแบบนี้จะเป็นประโยชน์โดยรวมขององค์การในแง่ของการติดต่อสื่อสารอย่างทั่วถึงตลอดทั้งองค์การ แต่อาจเกิดปัญหาในเรื่องเอกภาพของการบังคับบัญชา (Unity of Command) ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น